เศรษฐกิจ-การลงทุน เมื่อเริ่มมีแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์

“จากภาพเศรษฐกิจที่ค่อยๆ ดีขึ้น
บวกกับดอกเบี้ยยังอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่อง การจัดพอร์ตลงทุนนั้น
ตราสารหนี้อาจเป็นสินทรัพย์ที่ช่วยสร้างเสถียรภาพให้กับพอร์ต
แต่ไม่ได้ช่วยเสริมในด้านผลตอบแทนเท่าใดนัก ดังนั้นการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง เช่น
หุ้น น่าจะเป็นสินทรัพย์หลักในการสร้างผลตอบแทน
นักลงทุนจึงอาจต้องพิจารณาเพิ่มสัดส่วนการลงทุนหุ้นในพอร์ตการลงทุน
ภายใต้กรอบความเสี่ยงที่ยังคงยอมรับได้
โดยในภาพระยะยาวยังคงมองการเติบโตในหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี หรือหุ้นจีน เป็นหลัก”
การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19
ในปีนี้ผลักดันให้ทั่วโลกเข้าสู่ภาวะถดถอยที่รวดเร็วและรุนแรง มาตรการ Lockdown
ที่หลายๆ ประเทศนำมาใช้สร้างบาดแผลขนาดใหญ่ให้เกิดขึ้น
กิจกรรมเศรษฐกิจที่หยุดชะงักไปกระทบต่อผู้คนจำนวนมากอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน
นับว่าวิกฤติที่เกิดขึ้นนี้เป็นบททดสอบที่สำคัญให้กับทั้งระดับประเทศและระดับบุคคล
อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจในปีนี้น่าจะติดลบกันเป็นการทั่วไป
แต่แสงสว่างที่ปลายอุโมงค์เริ่มส่องให้เห็นจากข่าวการพัฒนาวัคซีนต้านโควิดที่สำเร็จ
ทำให้ทิศทางการลงทุนในหลายตลาด โดยเฉพาะตลาดหุ้นไทย เริ่มมีแนวโน้มดีขึ้น
อีกทั้งเศรษฐกิจไทยในช่วงที่ผ่านมาก็ไม่ได้แย่อย่างที่หลายคนเป็นกังวล
ตัวเลข GDP ไทยในไตรมาส 3 หดตัวเพียง -6.4% เท่านั้น
ขณะที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่มองกันระดับ -8% กว่าๆ
โดยเศรษฐกิจไทยได้ประโยชน์จากการฟื้นตัวของการบริโภคที่ดีกว่าที่คาด
และการใช้จ่าย-การลงทุนภาครัฐที่เร่งตัวต่อเนื่องตั้งแต่ไตรมาส 2 นำมาสู่การปรับประมาณการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปีนี้เพิ่มขึ้น
จากเดิมที่ส่วนใหญ่มองว่าเศรษฐกิจไทยจะหดตัวประมาณ -7% ถึง -8% ในปีนี้ เหลือระดับ
-6% กว่า ส่วนใหญ่ปีหน้า หลายฝ่ายยังมองในระดับประมาณ 3.5-4.5%
สำหรับปัจจัยความไม่แน่นอนหลักของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในปีหน้าน่าจะเป็นเรื่องการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว เรารู้ว่าเดิมก่อน COVID-19 มีนักท่องเที่ยวเข้ามาไทยประมาณ 40 ล้านคนต่อปี แต่ปัจจุบันเหลือประมาณศูนย์
แล้วปีหน้าจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามามากน้อยเพียงใด?
และเราจะใช้เวลานานเพียงใดกว่าจะกลับมาสู่ภาวะปกติ? คงเป็นคำถามหลักในใจหลายคน
แม้ว่าข่าวดีในการพัฒนาวัคซีนสำเร็จได้เกิดขึ้นแล้ว
แต่เรามองว่าขั้นตอนในการอนุมัติรับรอง ขั้นตอนการผลิต และการให้วัคซีนแก่ประชาชน
ยังอาจจะต้องใช้เวลาระยะหนึ่ง
อีกทั้ง อย่าลืมว่า การที่คนออกไปท่องเที่ยวต่างประเทศ
เท่ากับเม็ดเงินที่รั่วไหลออกนอกประเทศ ในขณะที่หลายประเทศยังพยายามกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศอยู่
ก็อย่างแปลกใจว่าประเทศต่างๆ จะพยายามกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศด้วย
โดยเฉพาะนโยบายที่ต้องระวังคือ “จีนเที่ยวจีน” ทำให้เรามองว่าการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวในปีหน้าจะเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป
แต่หากการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวกลับมาได้เร็วก็น่าจะเป็นผลดีอย่างยิ่งต่อเศรษฐกิจไทย
แม้ว่าภาคการท่องเที่ยว (รวมถึงโรงแรม, ร้านอาหาร,
การเดินทาง หรือสันทนาการต่างๆ) ยังคงย่ำแย่ แต่ภาคการผลิตอื่นๆ
เริ่มมีแนวโน้มที่ดีขึ้น หรือบางอุตสาหกรรมการปรับตัวดีขึ้นกว่าก่อนการแพร่ระบาดของโควิดเสียด้วยซ้ำ
ในด้านอุตสาหกรรมการผลิตมีสัญญาณที่ดีขึ้นจากการส่งออกที่ค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้น
หรืออย่างภาคการก่อสร้างก็ปรับตัวดีขึ้นชัดเจนจากเม็ดเงินลงทุนภาครัฐ
โดยเฉพาะการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ที่เข้าสู่เศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง
ขณะที่ภาคการเกษตรก็มีผลผลิตที่ดีขึ้นกว่าปีก่อนจากสภาวะอาการที่เริ่มมีฝนตกลงมามากขึ้นในช่วงฤดูฝนปีนี้
อีกทั้งราคาสินค้าทางการเกษตรก็ปรับดีขึ้นในหลายรายการ
ส่งผลดีต่อรายได้ของผู้ที่ทำงานในภาคการเกษตรนี้
ซึ่งนับว่าเป็นโชคที่ดีเพราะแรงงานที่ย้ายออกจากภาคการท่องเที่ยวได้มุ่งสู่ภาคการเกษตรไม่น้อยเลยทีเดียว
อย่างไรก็ตาม
ภาคการเกษตรยังน่าจะเผชิญความท้าทายต่อเนื่องในช่วงต้นปีหน้า
เนื่องจากฝนที่ตกลงมาในช่วงที่ผ่านมา ไม่ได้เติมน้ำในเขื่อนให้เพิ่มขึ้นมากนัก
หรือเพียงพอที่จะทำการเกษตรในช่วงฤดูแล้ง ภาคการเกษตรในช่วงต้นปีจึงอาจจะแย่ใกล้เคียงกันปีก่อนในช่วงต้นปี
ก่อนจะดีในช่วงครึ่งหลังของปีเมื่อเศรษฐกิจในปีหน้ายังคงมีบางเครื่องยนต์ที่ยังคง “เย็น”
อยู่
ดังนั้น
มาตรการช่วยเหลือจึงยังคงมีความจำเป็นในการช่วยผลกัดันให้เศรษฐกิจภาพรวมยังเดินหน้าต่อไปได้
การใช้จ่ายภาครัฐที่เป็น “พระเอก” ในปีนี้
ยังน่าจะอยู่ในระดับที่สูงต่อเนื่อง
ในด้านเม็ดเงินลงทุนถือว่ายังคงเหลืออยู่พอประมาณ
การเบิกจ่ายตาม พ.ร.บ.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ยังทำได้ค่อนข้างต่ำเพียง 3
แสนกว่าล้านบาทเท่านั้น
นั่นหมายความว่ายังมีวงเงินเหลือเพียงพอให้ดำเนินมาตรการอื่นๆ เช่น
การเติมเงินให้กับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐต่อเนื่อง, มาตรการคนละครึ่งเฟส
2 , มาตรการเที่ยวด้วยกันเฟส 2หรือ
มาตรการช้อปดีมีคืนเฟส 2 ในช่วงปลายปีหน้าหากยังมีความจำเป็น
ซึ่งน่าจะพอเป็นแรงส่งให้กับเศรษฐกิจเพิ่มเติมได้บ้างในปีหน้า
แต่จากที่บางภาคส่วนของเศรษฐกิจเริ่มกลับมาดีแล้ว
จึงอาจจะไม่จำเป็นต้องช่วยเหลือภาคส่วนเหล่านี้มากนัก
แต่มาตรการอาจจะต้องมุ่งเน้นไปยังภาคที่ได้รับกระทบรุนแรงจากวิกฤติโควิดในรอบนี้
ทั้งภาคการท่องเที่ยวและภาคแรงงานที่เกี่ยวข้อง
ขณะที่นโยบายการเงินที่มีผลกระทบในวงกว้าง
อาจจะนั่งใจเย็นเป็น “กองหลัง” ไว้ก่อนได้
ดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.5% ก็ถือว่าต่ำเป็นประวัติศาสตร์
และน่าจะต่ำเพียงพอในการดูแลเศรษฐกิจ แต่หน้าที่สำคัญคือการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจ
แม้ว่าแนวโน้มเศรษฐกิจไทยจะดีขึ้น แต่งบดุลของหลายธุรกิจยังคงอ่อนแอ
และมีความเสี่ยงต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจไทย
อีกทั้ง การแข็งค่าของค่าเงินบาทที่เกิดขึ้นก็เป็นโจทย์ใหญ่
เรายังคงมองเห็นถึงแรงกดดันต่อค่าเงินบาทอย่างต่อเนื่อง
จากกระแสเม็ดเงินไหลเข้า-ออกที่ไม่สมดุล ซึ่งเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างระยะยาว
และหากภาคการท่องเที่ยวดีขึ้นก็จะมีเม็ดเงินไหลเข้าเพิ่มขึ้น
สร้างแรงกดดันให้บาทแข็งขึ้นไปอีก การเข้าแทรกแซงอาจช่วยลดแรงกดดันได้ในระยะสั้นๆ
แต่ก็ไม่ได้ปัญหาระยะยาวเท่าใดนัก
ดังนั้น ด้วยภาพเศรษฐกิจที่ค่อยๆ ดีขึ้นนี้
บวกกับดอกเบี้ยยังอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่อง
ทำให้เรามองว่าในการจัดพอร์ตการลงทุนนั้น
ตราสารหนี้อาจเป็นสินทรัพย์ที่ช่วยสร้างเสถียรภาพให้กับพอร์ต
แต่ไม่ได้ช่วยเสริมในด้านของผลตอบแทนเท่าใดนัก การลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงอื่นๆ
เช่น หุ้น น่าจะเป็นสินทรัพย์หลักในการสร้างผลตอบแทน
นักลงทุนจึงอาจต้องพิจารณาเพิ่มสัดส่วนการลงทุนหุ้นในพอร์ตการลงทุน
ภายใต้กรอบความเสี่ยงที่ยังคงยอมรับได้
โดยในภาพระยะยาวเรายังคงมองการเติบโตในหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี หรือหุ้นจีน
เป็นหลักครับ
ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุนและลูกค้าสัมพันธ์ บลจ.กรุงไทย