Exclusive Interview : กุลยา ตันติเตมิท ผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.)

กุลยา
ตันติเตมิท
ผู้อำนวยการ
สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.)
ปฏิรูปภาษี-ยกระดับจัดเก็บรายได้
เดินหน้าฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยอย่างยั่งยืน
กุลยา
ตันติเตมิท เคยดำรงตำแหน่งในสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) หลายตำแหน่งไม่ว่าจะเป็น
ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเศรษฐกิจมหภาคสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค และ
ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค ก่อนจะได้ไปปฏิบัติงานในตำแหน่งกรรมการบริหาร
กลุ่มธนาคารโลก(World Bank) และ
ผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลังรวมเป็นเวลากว่า 5 ปี
และเมื่อวันที่ 9 ก.พ. 2564ได้กลับมาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.)
กุลยาให้สัมภาษณ์พิเศษ
การเงินธนาคารว่า การดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง
ถือเป็นการทำงานที่ท้าทาย โดยเฉพาะในช่วงที่มีการระบาดของ COVID-19 เนื่องจากที่ผ่านมา สศค.
มีหน้าที่ในการออกแบบนโยบายในเชิงวิชาการ
แต่ในภาวะปัจจุบันต้องเป็นนโยบายที่ทำได้อย่างรวดเร็วและใช้งานได้จริง
โครงการต่างๆต้องสามารถกระจายไปทั่วประเทศได้
“การกลับมาทำหน้าที่ผอ.สศค.ในครั้งนี้ อยากเห็น สศค. เป็นหน่วยงานที่สามารถเสนอแนะนโยบายอย่างมีหลักการ ตอนนี้การระบาดของ COVID-19 เป็นปัญหาเฉพาะหน้าที่ต้องเร่งแก้ไข ต้องออกแบบนโยบายอย่างรวดเร็วและสามารถใช้ได้จริงแต่ต้องไม่ละเลยความสมดุลของเศรษฐกิจในระยะปานกลางและระยะยาว”
คาดจีดีพีปี 64 โต 2.3%
จับตา COVID-19 รอบ 3
กุลยากล่าวว่า
เศรษฐกิจไทยก่อนมีการระบาดของ COVID-19
รอบล่าสุดมีแนวโน้มขยายตัวได้มากขึ้นซึ่งสศค.คาดการณ์จีดีพีปี 2564 ไว้ที่ 2.8%
โดยมีปัจจัยบวกจากการบริโภคและลงทุนภาคเอกชนรวมถึงการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก
ตลอดจนการส่งออกทั้งสินค้าและบริการมีสัญญาณการขยายตัวที่ดีซึ่งคาดว่าจะเป็นอีกส่วนสำคัญในการส่งเสริมการขยายตัวทางเศรษฐกิจ
อย่างไรก็ตามปัจจุบันมีความเสี่ยงจากการระบาดของ
COVID-19 ในรอบที่สาม
ซึ่งอาจส่งผลกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะการท่องเที่ยว โดยก่อนเกิดการระบาด สศค.
คาดการณ์ว่าหากจะให้เศรษฐกิจไทยในปี 2564 เติบโตได้ถึง 2.8-3% ต้องมีนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ 5 ล้านคน
ซึ่งหากการระบาดรอบล่าสุดส่งผลต่อจำนวนนักท่องเที่ยวอาจทำให้เศรษฐกิจในปี 2564 ขยายตัวน้อยกว่าที่คาดไว้
จึงปรับเป้าจีดีพีใหม่เป็น 2.3%
“ตอนนี้มีความเสี่ยงของการระบาดของ COVID-19 รอบสาม กิจกรรมทางเศรษฐกิจภายในอาจมีปัญหา
ต้องมีการติดตามการใช้จ่ายในประเทศอย่างใกล้ชิด
ขณะที่ด้านนักท่องเที่ยวต่างชาติต้องติดตามการกระจายตัวของวัคซีนทั้งในไทยและต่างชาติรวมถึงนโยบายการกักตัวนักท่องเที่ยวซึ่งจะส่งผลกับจำนวนนักท่องเที่ยวในปีนี้”
ดังนั้นสิ่งที่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้คือการบริโภคในประเทศ
โดยกระทรวงการคลังได้ออกมาตรการกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศเพื่อนำเม็ดเงินลงสู่ระบบเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง
ซึ่งโครงการที่สิ้นสุดลงแล้วและนับได้ว่าเป็นโครงการที่ประสบความสำเร็จคือโครงการคนละครึ่งโดยเป็นโครงการที่ช่วยลดค่าครองชีพของประชาชนได้
สามารถดึงเม็ดเงินจากประชาชนมาใช้ได้จริงถึง 51%
และเม็ดเงินเหล่านี้ได้กระจายไปสู่ร้านค้ารายย่อยโดยตรง
9 โจทย์ใหญ่ที่ท้าทาย
ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย
กุลยากล่าวว่า
ปัจจุบันที่มีการแพร่ระบาดของ COVID-19
มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้นยังมีความจำเป็น
อย่างไรก็ตามประเทศไทยจำเป็นต้องมีการฟื้นฟูเศรษฐกิจในระยะยาวด้วย
โดยแนวทางการฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้ามีความท้าทายที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด
ได้แก่
1. การควบคุมการระบาดของ
COVID-19 ที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง
รวมถึงความสำเร็จในการกระจายการฉีดวัคซีนอย่างทั่วถึง ซึ่งวิกฤติCOVID-19 ส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังรายได้ของประชาชน
การจ้างงาน และการประกอบกิจการของภาคเอกชน
โดยเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับบริการการท่องเที่ยว
2. การปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจให้เหมาะสมกับสังคมในฐานวิถีชีวิตใหม่
(New Normal) ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา
กระทรวงการคลังก็ได้ส่งเสริมให้ประชาชนและผู้ประกอบการก้าวเข้าสู่ระบบสังคมไร้เงินสด
(Cashless Society) ให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น
ดังจะเห็นได้จากมาตรการที่กระทรวงการคลังได้ดำเนินการในช่วงที่ผ่านมา อาทิ
โครงการคนละครึ่ง โครงการเราเที่ยวด้วยกันและโครงการเราชนะ
ตลอดจนการส่งเสริมให้มีการยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีผ่านระบบอินเทอร์เน็ตมากขึ้น
ซึ่งจะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ในระยะยาว
3. การเพิ่มการลงทุนของภาคเอกชนเพื่อปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไปสู่อุตสาหกรรมใหม่ๆ
โดยต้องเร่งผลักดันการลงทุนโครงการโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่
การลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve)
และการลงทุนในโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก
(Eastern Economic Corridor: EEC) โดยเฉพาะการลงทุนในรถยนต์ไฟฟ้า
(EV) การเป็นศูนย์กลางสุขภาพโสก (Medical Hub) เพื่อเป็น New Engine of Growth เสริมสร้างขีดความสามารถของประเทศ
และสนับสนุนการเพิ่มผลิตภาพ (Productivity) ของระบบเศรษฐกิจ
ทั้งนี้
การลงทุนดังกล่าวข้างต้นต้องอาศัยเงินลงทุนจำนวนมากดังนั้น
ภาครัฐจะต้องให้ความสำคัญในการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน (PublicPrivate Partnership: PPP)
4. การปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่พึ่งพาการใช้จ่ายภายในประเทศมากขึ้น
หลังจากวิกฤติเศรษฐกิจในปี 2540-2541 เป็นต้นมา
เศรษฐกิจไทยถูกขับเคลื่อนโดยอุปสงค์จากต่างประเทศเป็นสำคัญ
สะท้อนได้จากสัดส่วนการส่งออกสินค้าและบริการที่เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดอยู่ที่ 61% ของ GDP ในปี 2563
ทำให้เศรษฐกิจมีความผันผวนไปตามสถานการณ์โลกอย่างมีนัยสำคัญ
รวมทั้งการบริหารจัดการและดูแลภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับภาคการท่องเที่ยวซึ่งได้รับผลกระทบอย่างมาก
5. การเร่งรัดการเพิ่มประสิทธิภาพและปฏิรูปโครงสร้างการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาล
ขยายฐานภาษี และพัฒนาการบริหารจัดการทรัพย์สินของรัฐอย่างต่อเนื่อง
โดยปรับปรุงกฎหมายนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บรายได้
6. การกระจายความเจริญไปยังภูมิภาคให้มากขึ้น
จากผลรวมของผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด(Gross Provincial Product : GPP) ยังกระจุกตัวในกรุงเทพฯและปริมณฑล
รวมถึงจังหวัดในพื้นที่พัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)ด้วยสัดส่วนสูงถึง
70% ของ GDP สะท้อนปัญหาความไม่สมดุลเชิงโครงสร้าง
ดังนั้น รัฐบาลจึงควรเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจในจังหวัดอื่นๆ
รวมทั้งเศรษฐกิจฐานรากในระดับท้องถิ่นให้เข้มแข็งมากขึ้น
7. การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์
ซึ่งจะทำให้ไทยเผชิญกับปัญหากำลังแรงงานขาดแคลน (Labor Shortage) ส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตภาคการเกษตร
อุตสาหกรรมและบริการ และหากไม่สามารถเพิ่มประสิทธิภาพของแรงงาน (Labor Productivity) หรือหาปัจจัยทุน
เครื่องมือเครื่องจักรและหุ่นยนต์มาทดแทนได้จะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจและขีดความสามารถในการแข่งขัน
ซึ่งประเทศไทยจะต้องมีการส่งเสริมด้านสุขภาพและการแพทย์มากขึ้นเพื่อรับมือกับสังคมผู้สูงอายุ
8. ช่องว่างของเทคโนโลยีที่นำไปสู่ความยากจนและความเหลื่อมล้ำ
เนื่องจากยังมีคนจำนวนมากที่ยังใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีไม่เต็มที่ ดังนั้น
ประเทศไทยจำเป็นต้องมุ่งการกระจายความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจไปยังเมืองรองให้มากขึ้น
ส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ต่างๆ เพื่อสร้างตำแหน่งงานในภูมิภาค
และช่วยสร้างจุดเด่นทางเศรษฐกิจของแต่ละภาคกลุ่มจังหวัด เป็นต้น
รวมถึงการยกระดับภาคการเกษตรสู่เกษตรมูลค่าสูง
โดยสร้างแพลตฟอร์มการตลาดดิจิทัล
พัฒนาระบบคุณภาพมาตรฐานความปลอดภัยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม
เพื่อลดปัญหาความยากจนและความเหลือมล้ำ
9. การสนับสนุนพลังงานสะอาดเพื่อรับมือกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ
โดยที่ผ่านมากระทรวงการคลังได้ดำเนินการออกพันธบัตรเพื่อสิ่งแวดล้อมเพื่อสังคมและเพื่อความยั่งยืน (The Issuance of Green, Social, and
Sustainability Bond) ร่วมกับธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นการออกพันธบัตรเพื่อโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม
วงเงินไม่เกิน 10,000
ล้านบาทซึ่งเป็นโครงการขนส่งที่สะอาด ช่วยลดมลภาวะทางอากาศ
และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
โดยกระทรวงการคลังมีแผนที่จะออกพันธบัตรเพื่อความยั่งยืนสำหรับโครงการอื่นๆ
ที่เกี่ยวข้องกับสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่องตามแผนพัฒนาตลาดพันธบัตรเพื่อความยั่งยืนให้มีสภาพคล่องสูงและสอดคล้องกับความต้องการของนักลงทุน
“ในช่วงเวลาข้างหน้านี้
ถือเป็นความท้าทายอย่างมากของประเทศไทยในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้ผ่านพ้นสถานการณ์
COVID-19
โดยเราจะพิจารณาการดำเนินมาตรการต่างๆ อย่างเหมาะสมภายใต้ความเสี่ยงต่างๆ
เพื่อให้มั่นใจว่าเศรษฐกิจของประเทศจะสามารถฟื้นตัวเข้าสู่สภาวะปกติได้โดยเร็ว”
ปฏิรูปภาษี-ยกระดับจัดเก็บรายได้
รองรับรายจ่ายที่เพิ่มขึ้นในอนาคต
กุลยากล่าวว่าจากการที่ประเทศไทยกำลังเผชิญหน้ากับความท้าทายจากปัจจัยเสี่ยงรอบด้าน
ทั้งการชะลอตัวของเศรษฐกิจจาก COVID-19การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ
ทำให้รัฐบาลมีรายจ่ายเพิ่มขึ้นขณะที่ยังไม่สามารถจัดเก็บรายได้ได้ตามเป้าหมาย
โดยในช่วง 5 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2564 รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิได้ที่ 843,187 ล้านบาท ต่ำกว่าเป้าหมาย 105,521 ล้านบาท หรือ 11.1%
และต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 14.7%
ซึ่งเป็นผลจากการระบาดของ COVID-19
ที่ส่งผลกับเศรษฐกิจไทยในทุกภาคส่วนโดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวและสาขาที่เกี่ยวข้อง
ทำให้ตัวแปรทางเศรษฐกิจต่างๆ
ไม่เป็นไปตามที่ได้ตั้งสมมติฐานในการจัดทำประมาณการรายได้ไว้
ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีการปฏิรูปโครงสร้างภาษี
เพื่อให้สามารถจัดเก็บรายได้เพิ่มมากขึ้นและเพียงพอ
เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บรายได้ ส่งเสริมระบบเศรษฐกิจและสวัสดิการต่างๆ
และเพื่อความยั่งยืนทางการคลังให้สามารถรองรับภาระรายจ่ายที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
โดยการปฏิรูปภาษีต้องเป็นไปตามแนวปฏิบัติที่ดีของสากลประกอบด้วย
4 เป้าหมายหลัก
ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี
เป้าหมายที่ 1
ส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันและสนับสนุนการเจริญเติบโตอย่างยั่งยืน(Competitiveness and Sustainable Economic
Growth) ระบบภาษีต้องแข่งขันได้
เข้าใจง่าย สร้างรายได้อย่างยั่งยืน
ต้องเปลี่ยนแปลงทั้งด้านโครงสร้างและการบริหารจัดเก็บภาษี
ทั้งภาษีทางตรงและทางอ้อม ทบทวนการยกเว้นและลดหย่อนภาษี รวมทั้งหาแนวการขยายฐานภาษี
เป้าหมายที่ 2 รองรับกับเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) ในยุค Digital Economy ทุกอย่างต้องรวดเร็ว ฉับไว
และระบบภาษีต้องเข้าถึงไต้ผ่านระบบออนไลน์ มีการใช้ e-Filing e-Tax Invoice และ e- Receipt และการจัดเก็บภาษีจะต้องเท่าเทียมกันระหว่างผู้ค้าขายออนไลน์และผู้ค้าขายปกติ
เป้าหมายที่ 3 ส่งเสริมเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) การเติบโตของเศรษฐกิจต้องดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมไปควบคู่กันจึงจะมีความยั่งยืน
กลไกภาษีจะช่วยสร้างแรงจูงใจในการดูแลสิ่งแวดล้อมได้
เป้าหมายที่ 4 เป็นธรรม ทั่วถึง และสนับสนุนโครงข่ายรองรับทางสังคมและสุขภาพ
(SocialSafety Net and Health
Sector) ระบบภาษีที่ดีจะต้องดูแลทุกคนอย่างทั่วถึงและเป็นธรรมโปร่งใส
และตรวจสอบได้ เพื่อส่งเสริมให้เกิดความเท่าเทียมกันในสังคม
“ระบบภาษีที่เหมาะสมต้องส่งเสริมความสามารถทางการแข่งขัน
มีความทันสมัย มีประสิทธิภาพ เป็นธรรม และทั่วถึง
โดยจะต้องสอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจและอยู่บนพื้นฐานของแนวทางปฏิบัติที่ดีของสากล”
กุลยากล่าวว่า
นอกจากการปฏิรูปโครงสร้างภาษีแล้วกระทรวงการคลังมีเป้าหมายในการขยายฐานภาษีเพื่อให้สามารถจัดเก็บรายได้ให้มากขึ้นโดยนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ในการบริการและการพัฒนากระบวนการทำงานเช่น
การพัฒนาระบบ My Tax Account เพื่อให้ผู้เสียภาษีตรวจสอบข้อมูลค่าลดหย่อนต่างๆด้วยตนเองได้
ระบบภาษีหัก ณ ที่จ่าย (e-Withholding Tax) เพื่อลดขั้นตอนการหักภาษี
ณ ที่จ่าย และลดต้นทุนการจัดทำและจัดเก็บเอกสาร รวมถึงเป็นการเพิ่มความโปร่งใสในการตรวจสอบหลักฐานผ่านเว็บไซต์ของกรมสรรพากรได้
นอกจากนี้กระทรวงการคลังจะเริ่มจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากการให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์
(e-Service) ของผู้ประกอบการต่างประเทศและแพลตฟอร์มต่างประเทศสำหรับรายรับหรือการจ่ายเงินตั้งแต่วันที่
1 ก.ย. 2564 เป็นต้นไป
ซึ่งเป็นก้าวแรกของการจัดเก็บภาษีในยุคดิจิทัลที่จะช่วยขยายฐานภาษีไปถึงผู้ประกอบการต่างประเทศ
สถานะการคลังยังเข้มแข็ง
หนี้สาธารณะไม่เกินเพดาน
กุลยากล่าวว่า
อย่างไรก็ตามปัจจุบันสถานะทางการคลังของประเทศไทยยังอยู่ในระดับที่เข้มแข็ง
ฐานะการคลังของรัฐบาลยังมีความมั่นคงและมีสภาพคล่องเพียงพอต่อการดำเนินนโยบายของรัฐบาล
โดยระดับเงินคงคลังในปัจจุบันอยู่ที่ 516,229 ล้านบาท
ซึ่งเพียงพอต่อการดำเนินนโยบายต่างๆเพื่อสนับสนุนการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศในระยะต่อไป
นอกจากนี้ กระทรวงการคลังยังมุ่งเน้นรักษาวินัยทางการเงินการคลังเพื่อให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดโดยคำนึงถึงความมั่นคงและเสถียรภาพทางการคลังของประเทศในระยะยาว
ซึ่งในปัจจุบันสัดส่วนต่างๆ
ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลังและกรอบการบริหารหนี้สาธารณะยังคงอยู่ภายใต้กรอบที่กฎหมายกำหนดไว้
โดยหนี้สาธารณะ
ณ สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2564 อยู่ที่ 8.4 ล้าล้านบาท หรือ 53.21% ของจีดีพี ซึ่งยังไม่เกิน 60% ตามที่กรอบวินัยทางการเงินการคลังกำหนด
และแม้ว่ามีการกู้เงินตาม พ.ร.ก. กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท
ครบภายในเดือน ก.ย. 2564 สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพี ณ
สิ้นงบประมาณ 2564 จะยังคงอยู่ภายใต้กรอบวินัยทางการเงินการคลังเช่นเดียวกัน
“ยืนยันว่าหากสถานการณ์โควิดยังยืดเยื้อไปถึงสิ้นปีก็ยังมีงบประมาณที่เพียงพอในการทำนโยบายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจนอกจากนี้กระทรวงการคลังมีการเตรียมการถึงระยะปานกลางให้มีเม็ดเงินพอที่จะใช้จ่ายในกิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยในอีก
5 ปีข้างหน้าแม้รวมวงเงินกู้จากพ.ร.ก.
กู้เงิน 1
ล้านล้านบาทและการกู้ขาดดุลงบประมาณเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในแต่ละปีแล้วสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีก็ยังไม่เกิน
60%”
ติดตามคอลัมน์ Exclusive Interview ได้ในวารสารการเงินธนาคาร ฉบับเดือนพฤษภาคม 2564 ฉบับที่ 469 บนแผงหนังสือชั้นนำทั้่วประเทศและในรูปแบบดิจิทัล : https://goo.gl/U6OnIi