Exclusive Interview : อานนท์ วังวสุ นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย

อานนท์ วังวสุ
นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย
ขับเคลื่อนธุรกิจประกันวินาศภัย
สู่การเป็นผู้บริหารความเสี่ยงมืออาชีพ
“ภารกิจของนายกสมาคม คือ การสร้างความพร้อมให้กับสมาชิกในภาคธุรกิจ โดยมีสมาคมเป็นศูนย์กลางคอยประสานงานและนำเสนอเครื่องมือต่างๆ ให้กับบริษัทสมาชิกโดยเฉพาะบริษัทขนาดกลางและขนาดเล็กเพื่อรับมือกับสถานการณ์ในอนาคตได้ในทุกรูปแบบ”
“จากนี้ไปมองว่าบทบาทของบริษัทประกันภัยในอนาคตนั้นต้องเป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงในทุกรูปแบบสำหรับประชาชน
โดยจะใช้รูปแบบของการประกันโควิดที่ประสบความสำเร็จมาใช้เป็นโมเดลเพื่อที่จะรับมือกับความเสี่ยงใหม่ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต”
ท่ามกลางวิกฤติโควิดระลอก 3 ที่ส่งผลให้ภาคธุรกิจต้องมีการปรับตัวรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะภาคธุรกิจประกันภัยที่เป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนของระบบเศรษฐกิจไทย ที่ต้องปรับเปลี่ยนบทบาทจากการเป็นผู้ขายไปสู่บทบาทของการเป็นผู้บริหารความเสี่ยงภัยมืออาชีพ กับภารกิจที่ท้าทายอีกวาระ ของ อานนท์ วังวสุ ที่ได้รับเลือกจากบริษัทสมาชิกอย่างเป็นเอกฉันท์ให้ดำรงตำแหน่ง นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย ประจำปี 2564-2566 และเป็นนายกสมาคมประกันวินาศภัยไทยคนที่ 26
รับภารกิจที่ท้าทาย
อานนท์
เปิดเผยถึงภารกิจที่ได้รับมอบหมายและตั้งใจจะดำเนินการในอีก 2
ปีว่า นโยบายหลักของสมาคมคือ
การปรับเปลี่ยนบทบาทของธุรกิจประกันวินาศภัยจากการเป็นผู้ขายกรมธรรม์ให้เป็นผู้บริหารความเสี่ยง
ประกอบด้วย
ภารกิจที่ 1 การ Reposition ธุรกิจประกันวินาศภัย
เพื่อเปลี่ยนบทบาทของบริษัทประกันวินาศภัยที่จะไม่เป็นเพียงแค่ผู้ที่ขายประกันภัยเท่านั้น
แต่จะต้องเป็นผู้ที่ดำเนินการด้านการบริหารความเสี่ยงมืออาชีพให้กับทุกภาคส่วนของสังคม
โดยเฉพาะในส่วนของภาคประชาชนนั้น
ธุรกิจประกันภัยจะเน้นการออกแบบกรมธรรม์ประกันภัยสำหรับประชาชนกลุ่มผู้มีรายได้น้อยซึ่งไม่เคยเข้าถึงระบบประกันภัยมาก่อน
เพื่อให้มีหลักประกันในการดำเนินชีวิตที่ดีขึ้น
เป็นการช่วยลดภาระของภาครัฐในการจัดหาสวัสดิการสังคมให้กลุ่มคนดังกล่าว
ขณะที่ ส่วนของภาครัฐนั้น
จะเน้นการขยายบทบาทของธุรกิจประกันวินาศภัยในการเป็นผู้บริหารความเสี่ยงและการบริหารจัดการงบประมาณด้านภัยพิบัติและสุขภาพของคนในชาติ
โดยการขยายประกันภัยพืชผลไปยังพืชเศรษฐกิจต่างๆ
เพิ่มเติมจากข้าวนาปีและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ รวมถึงประกันภัยสุขภาพสำหรับคนในชาติ
แรงงานต่างด้าว และนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาในประเทศ
เพื่อลดภาระของภาครัฐในอนาคต
ภารกิจที่ 2 การดำเนินกิจกรรมเพื่อสังคมเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน
โดยการดำเนินโครงการธนาคารน้ำใต้ดินอย่างต่อเนื่อง
เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วมซ้ำซากให้มีคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
ซึ่งถือเป็นการบริหารความเสี่ยงเชิงรุกในการสร้างความสมดุลและยั่งยืนของแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรและการอุปโภคบริโภค
รวมถึงโครงการป้องกันและลดอุบัติเหตุบนท้องถนน
เพื่อลดจำนวนผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บ
และลดความสูญเสียทางเศรษฐกิจของประเทศไทยเนื่องมาจากอุบัติเหตุทางถนน ซึ่งมีมูลค่าความสูญเสียเฉลี่ยเกินกว่า
5
แสนล้านบาทในแต่ละปี
ภารกิจที่ 3 การส่งเสริมนวัตกรรมและการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในการประกอบธุรกิจประกันวินาศภัย
โดยเฉพาะการสร้าง Platform
กลางสำหรับการประกันภัยยานยนต์และประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคลและสุขภาพ
เพื่อเสริมสร้างประสิทธิภาพในการให้บริการกับประชาชนและลดค่าใช้จ่ายของภาคธุรกิจ
ทั้งด้านการรับประกันภัยและการชดใช้ค่าสินไหมทดแทน
และศึกษาการนำเทคโนโลยีภาพถ่ายดาวเทียม โดรน และแอปพลิเคชั่นต่างๆ
มาใช้ในการประเมินความเสียหายของพื้นที่ทางการเกษตร แทนการประเมินโดยเจ้าหน้าที่ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน
ภารกิจที่ 4 การนำเสนอให้มีการปฏิรูปกฎหมายประกันวินาศภัยให้เหมาะสมกับ
Landscape ในการประกอบธุรกิจในโลกดิจิทัล
Business Model รูปแบบใหม่
ตลอดจนพฤติกรรมและความคาดหวังของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงไป
เพื่อช่วยลดภาระของภาคธุรกิจและประชาชนในการปฏิบัติ
และภาระของภาครัฐในการบังคับใช้
และการผลักดันให้เกิดระบบฐานข้อมูลด้านการประกันภัย (Insurance Bureau System) โดยเร็ว
ภารกิจที่ 5
การเตรียมความพร้อมให้ภาคธุรกิจในการปฏิบัติตามกฎหมายซึ่งจะมีผลใช้บังคับในเวลาอันใกล้
ทั้งพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562 และมาตรฐานบัญชี IFRS 17
ภารกิจที่ 6 ส่งเสริมให้มีการขยายธุรกิจประกันวินาศภัยไปยังต่างประเทศ
โดยเฉพาะประเทศในกลุ่มอาเซียน
ภารกิจที่ 7 ขยายบทบาทด้านการลงทุนของธุรกิจประกันวินาศภัย
เพื่อสร้างเสริมรายได้ให้กับภาคธุรกิจและเป็นแหล่งทุนสำคัญของประเทศ
COVID-19
เปลี่ยนรูปแบบธุรกิจ
อานนท์กล่าวว่า
ในอดีตการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยของบริษัทประกันภัยจะต้องอาศัยฐานข้อมูลมีการเก็บรวบรวมไว้อย่างเพียงพอ
เพื่อนำมาใช้ในการคำนวณต้นทุน อัตราเบี้ยประกัน
และความเสี่ยงที่บริษัทจะสามารถรับประกันได้ แต่การแพร่ระบาดของ COVID-19ได้เข้ามาเปลี่ยนรูปแบบการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของธุรกิจประกันภัยเปลี่ยนไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง
อีกทั้งแสดงให้เห็นถึงศักยภาพในการเป็นผู้บริหารความเสี่ยงของบริษัทประกันภัยที่มีความพร้อมในการรับหน้าที่เป็นผู้บริหารจัดการความเสี่ยงให้กับประชาชนได้อย่างรวดเร็ว
เห็นได้จากการที่บริษัทประกันภัยได้พัฒนาแบบประกันภัยโควิดมานำเสนอให้กับประชาชน
เพื่อช่วยลดความกังวลใจจากการติดเชื้อ ลดความกังวลในเรื่องของค่ารักษา เป็นต้น
ซึ่งที่ผ่านมาบริษัทประกันภัยได้มีการนำเสนอความคุ้มครองออกมาในหลายรูปแบบทั้งแบบเจอ
จ่าย จบ หรือแบบรับค่ารักษาพยาบาล เสียชีวิต ภาวะโคม่า
ซึ่งแต่ละบริษัทต่างก็ได้มีการปรับตัวเพื่อรองรับความต้องการของลูกค้าอย่างเหมาะสมมาโดยตลอด
โดยในปี 2563 บริษัทประกันภัยสามารถขายแบบประกันภัย COVID-19
ได้ถึง 9
ล้านกรมธรรม์ เบี้ยประกันภัยประมาณ 4,600 ล้านบาท และมีการเคลมประกันภัยไม่เกิน 10%
ขณะที่ ในปี 2564
ในช่วงไตรมาสแรกที่ภาครัฐได้ดำเนินมาตรการต่างๆ
เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดได้ในระดับหนึ่ง
ส่งผลให้ประชาชนคลายความกังวลในเรื่องของโควิดลง
จึงทำให้ในช่วงไตรมาสแรกมีเบี้ยประกันใหม่รวมกับเบี้ยต่ออายุประมาณ 800
ล้านบาท จำนวนกรมธรรม์ 1.3 ล้านกรมธรรม์เท่านั้น
จนกระทั่งในเดือนเมษายน 2564
ซึ่งมีการระบาดของ COVID-19
ระลอก 3
ที่ทำให้ยอดผุ้ติดเชื้อและเสียชีวิตพุ่งสูงจนน่าตกใจ ทำให้ยอดการขายประกันCOVID-19
พุ่งทะยานตามไปด้วย โดยมียอดขายสิ้นสุด ณ วันที่ 15 พฤษภาคม 2564 มียอดขายประกันภัย COVID-19
ประมาณ 9
ล้านกรมธรรม์ เบี้ยประกันภัยประมาณ 3,500
ล้านบาทโดยมีฐานลูกค้าเป็นกลุ่มลูกค้ารายย่อยเป็นหลัก
อานนท์กล่าวว่า
ความสำเร็จจากการนำเสนอประกันภัย COVID-19
และความสำเร็จในการขยายฐานสู่กลุ่มลูกค้ารายย่อยโดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อย
ซึ่งไม่ใช่ฐานลูกค้าหลักของประกันภัยมาก่อน
เนื่องจากที่ผ่านมาลูกค้ากลุ่มนี้ยังไม่สามารถเข้าถึงประกันภัยได้แต่จากความสำเร็จที่เกิดขึ้นจากการรับประกันภัยโควิดในครั้งนี้
มองว่าบริษัทประกันภัยมีความพร้อมที่จะนำเสนอผลิตภัณฑ์ประกันภัยในทุกรูปแบบเพื่อบริหารความเสี่ยงให้กับประชาชน
หากเกิดโรคอุบัติใหม่ขึ้นอีกในอนาคต
“จากนี้ไปมองว่าบทบาทของบริษัทประกันภัยในอนาคตนั้นต้องเป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงในทุกรูปแบบสำหรับประชาชน
โดยจะใช้รูปแบบของการประกัน COVID-19
ที่ประสบความสำเร็จมาใช้เป็นโมเดลเพื่อที่จะรับมือกับความเสี่ยงใหม่ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต”
ประกันภัยเสาหลักเศรษฐกิจไทย
อานนท์กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค
COVID-19
ที่ได้ทวีความรุนแรงมากขึ้นส่งผลให้บุคลากรทางการแพทย์ต้องเผชิญกับภาระหนักในการปฏิบัติงานและความเสี่ยงที่เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ดังนั้น รัฐบาลจึงมีนโยบายที่จะจัดหาประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองโรค COVID-19
ให้กับบุคลากรทางการแพทย์และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจำนวน 270,000 คน
เพื่อเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจในการปฏิบัติงาน
ดังนั้นสมาคมประกันวินาศภัยไทยในฐานะองค์กรที่ทำหน้าที่ส่งเสริมและสนับสนุนให้ธุรกิจประกันวินาศภัยเป็นเสาหลักของระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ
ได้ร่วมกับบริษัทประกันวินาศภัยให้การสนับสนุนกรมธรรม์ประกันภัยกลุ่มให้กับบุคลากรทางการแพทย์และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง
จำนวน 270,000
คนเพื่อให้ความคุ้มครองกรณีเสียชีวิตจากโรคติดเชื้อ COVID-19
เป็นระยะเวลา 6
เดือน จำนวน 1,000,000
บาทต่อคน รวมเป็นทุนประกันภัยทั้งสิ้น 270,000 ล้านบาท
ขณะเดียวกัน
สมาคมยังได้ร่วมสนับสนุนเครื่องช่วยหายใจให้กับโรงพยาบาลบุษราคัม
ซึ่งเป็นโรงพยาบาลสนามขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ณ อิมแพ็ค ชาเลนเจอร์
เมืองทองธานีจำนวน 50
เครื่อง รวมมูลค่า 10,500,000 บาทเพื่อช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผู้ป่วยโรคติดเชื้อ
COVID-19
ให้สามารถดูแลรักษาพยาบาลได้อย่างรวดเร็วและทันท่วงที
อานนท์กล่าวว่า
เพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจและกระตุ้นให้ประชาชนเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกัน COVID-19
กันมากขึ้นรวมทั้งส่งเสริมให้นำระบบประกันภัยเข้ามาช่วยในการบริหารความเสี่ยงให้กับประชาชนและประเทศสมาคมจึงร่วมกับบริษัทสมาชิกจัดโครงการ
“ฉีดช่วยชาติ
หมอพร้อมฉีด ประกันวินาศภัยพร้อมดูแล ประกันภัยแพ้วัคซีน” โดยมอบกรมธรรม์ประกันภัยคุ้มครองการแพ้วัคซีนให้กับประชาชนทั่วไปฟรีจำนวน
13
ล้านสิทธิ์
โดยให้ความคุ้มครองกรณีเสียชีวิตจากภาวะแทรกซ้อนหรือผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีน ทุนประกันภัยขั้นต่ำ 1 แสนบาท เพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจและกระตุ้นให้ประชาชนเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโรค COVID-19 เพิ่มมากขึ้น เพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ (Herd Immunity) ในกลุ่มประชากร ซึ่งจะช่วยลดจำนวนผู้ป่วยหนักและเสียชีวิต และช่วยให้เกิดการควบคุมการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ที่ยั่งยืนในระยะยาว
เดินหน้าบริหารความเสี่ยง
นอกจากนี้
สมาคมยังได้เดินหน้าขับเคลื่อนภารกิจในการเป็นผู้บริหารความเสี่ยงมืออาชีพในการบรรเทาความเสียหายจากภัยพิบัติเนื่องมาจากภัยธรรมชาติ
เพื่อให้เกษตรกรไทยมีหลักประกันในการดำเนินชีวิตที่ดีขึ้น
โดยสมาคมได้ร่วมกับภาครัฐจัดให้มีโครงการประกันภัยพืชผล ซึ่งประกอบด้วย
โครงการประกันภัยข้าวนาปีและโครงการประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์
โดยคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบให้ ธ.ก.ส. ดำเนินโครงการประกันภัยข้าวนาปี
ปีการผลิต 2564
เป็นที่เรียบร้อย ภายใต้กรอบวงเงิน 2,935 ล้านบาท พื้นที่เป้าหมายรับประกันภัย 46
ล้านไร่และคณะรัฐมนตรียังได้มีมติเห็นชอบให้ดำเนินโครงการประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์
ปีการผลิต 2564
วงเงิน 311.41
ล้านบาท พื้นที่เป้าหมายรับประกันภัยรวม 2.92 ล้านไร่ด้วย
คาดปี 64 ประกันภัยโต 2.4%
สำหรับในปี 2564 สมาคมประกันวินาศภัยไทยคาดการณ์ว่า
ธุรกิจประกันวินาศภัยจะมีเบี้ยประกันภัยรับโดยตรงรวมทั้งสิ้น 253,000-265,000
ล้านบาท คิดเป็นอัตราการเติบโต 0-5%
ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับสภาวะเศรษฐกิจ การลงทุนของภาครัฐและเอกชน การใช้จ่ายของประชาชน
และการควบคุมการแพร่ระบาดของโรค COVID-19
ทั้งในและต่างประเทศ เป็นสำคัญ
ขณะที่ความท้าทายสำหรับธุรกิจประกันวินาศภัยไทยในอนาคต
คือ ไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
และโรคอุบัติใหม่กฎเกณฑ์ระเบียบปฏิบัติใหม่ที่ส่งผลต่อการดำเนินธุรกิจ
การปรับตัวของธุรกิจให้ทันกับกลโกงของการประกันภัยการป้องกันการฉ้อฉล
กฎเกณฑ์และการกำกับดูแลต้องมีการปรับปรุง
เทคโนโลยีที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ภัยธรรมชาติ
ภัยพิบัติมีความรุนแรงมากขึ้น ข้อจำกัดด้านรายได้ของประชาชน เศรษฐกิจชะลอตัว
และภาวะอัตราดอกเบี้ยต่ำ
“ภารกิจของนายกสมาคมคือ การสร้างความพร้อมให้กับสมาชิกในภาคธุรกิจ โดยมีสมาคมเป็นศูนย์กลางคอยประสานงานและนำเสนอเครื่องมือต่างๆ ให้กับบริษัทสมาชิกโดยเฉพาะบริษัทขนาดกลางและขนาดเล็กเพื่อรับมือกับสถานการณ์ในอนาคตได้ในทุกรูปแบบ”
ติดตามคอลัมน์ Exclusive Interview ได้ในวารสารการเงินธนาคาร ฉบับเดือนมิถุนายน 2564 ฉบับที่ 470 บนแผงหนังสือชั้นนำทั้่วประเทศและในรูปแบบดิจิทัล : https://goo.gl/U6OnIi