People : กานต์พูลเกษร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทเคทีบีเอสที เลนด์ จำกัด (KTBST LEND)

กานต์พูลเกษร
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร
บริษัทเคทีบีเอสที เลนด์ จำกัด (KTBST LEND)
มุ่งสู่ผู้นำสินเชื่อสวัสดิการพนักงาน
และสินเชื่อส่วนบุคคล
“เพื่อแก้ไขปัญหาการเข้าถึงสินเชื่อในไทย เราจึงจัดตั้งเคทีบีเอสทีเลนด์ที่ให้บริการสินเชื่อสวัสดิการพนักงานออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นการให้บริการแพลตฟอร์มสินเชื่อสวัสดิการพนักงานแก่องค์กร และสินเชื่อส่วนบุคคลมีคลินิกขจัดปัญหาหนี้ เพื่อคุณภาพชีวิตและสังคมที่ดีขึ้น โดยตั้งเป้าเป็นผู้นำสินเชื่อสวัสดิการพนักงานและสินเชื่อส่วนบุคคลในประเทศไทย”
“ข้อดีของสินเชื่อสวัสดิการพนักงาน KTBST LEND สมัครง่ายผ่านแอปพลิเคชั่น
LEND U ได้ทุกที่ทุกเวลาอนุมัติไวดอกเบี้ยต่ำกว่าสินเชื่อส่วนบุคคลทั่วไปผ่อนสบาย
12 เดือนวงเงินสูงสุด 1-3 เท่าของเงินเดือนสูงสุดไม่เกิน 200,000
บาทไม่ต้องมีหลักทรัพย์หรือบุคคลค้ำประกันไม่ตรวจเครดิตบูโรหักชำระค่างวดจากเงินเดือนประจำหมดปัญหาการจัดการชำระหนี้สินที่วุ่นวาย”
เคทีบีเอสทีเลนด์หรือ KTBST LEND เป็นบริษัทในเครือของ บริษัท เคทีบีเอสที โฮลดิ้ง จำกัด
(มหาชน)
ที่มีบริษัทลูกเน้นให้บริการด้านการเงินอย่างครบวงจร โดยมุ่งเน้นเป็นองค์กรที่ให้บริการด้านตลาดเงิน และตลาดทุนชั้นนำในประเทศไทย ที่ส่งเสริมให้ผู้ที่เกี่ยวข้องสามารถเข้าถึงตลาดทุนได้ง่ายอย่างมีประสิทธิภาพ ปัจจุบันเคทีบีเอสทีเลนด์ ประกอบธุรกิจ
2 ประเภทได้แก่ เป็นผู้ให้บริการสินเชื่อเพื่อสวัสดิการพนักงาน (Welfare Loans) และบริการสินเชื่อแบบมีหลักประกัน
(Collateral Loan) แก่บุคคลและนิติบุคคล ในอัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสม เพื่อให้ธุรกิจมีเงินทุนหมุนเวียน โดยที่มีตัวเลือกหลักประกันได้แก่หุ้นจดทะเบียนและโฉนดที่ดิน โดยมี กานต์ พูลเกษร นั่งในตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารเพื่อสานพันธกิจและวิสัยทัศน์ของบริษัท ในการเป็นผู้นำด้านบริการสินเชื่อสวัสดิการและสินเชื่อส่วนบุคคลในประเทศไทย การเงินธนาคาร ได้สัมภาษณ์พิเศษกานต์ ถึงการเข้ามาทำงานด้านพัฒนาสินเชื่อสวัสดิการ และสินเชื่อส่วนบุคคล รวมถึงโครงสร้างการให้บริการสินเชื่ออิเล็กทรอนิกส์ และที่ขาดเสียไม่ได้นั่นก็คือแผนการดำเนินธุรกิจของเคทีบีเอสทีเลนด์
ประสบการณ์ 20 ปีในภาคการเงิน
กานต์ทำงานในภาคการเงินการลงทุนมาเกือบ 20 ปีจบระดับปริญญาตรีวิศวกรรมศาสตร์ และปริญญาโทสาขาการเงิน ก้าวสู่โลกการทำงานด้าน Financial Engineering ที่บริษัทหลักทรัพย์แห่งหนึ่ง และมีโอกาสนำเทคโนโลยีทางการเงินใหม่ๆ เข้ามาใช้งานในช่วงนั้น เช่น การสร้างโมเดลการเงินวิเคราะห์การลงทุนการนำโปรแกรมคอมพิวเตอร์ เข้ามาช่วยในการซื้อขายหลักทรัพย์ ซึ่งในสมัยนั้นไทยเพิ่งเริ่มมีการใช้งานเทคโนโลยีดังกล่าว หลังจากนั้นกานต์มีโอกาสได้ย้ายการทำงานไปยังบริษัทหลักทรัพย์อีกหลายแห่ง จนกระทั่งออกมาตั้งบริษัทด้านฟินเทคให้บริการแพลตฟอร์มการลงทุนแบบอัตโนมัติ และกลยุทธ์สำหรับการซื้อขายหลักทรัพย์ที่เป็นกระแสในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ทำให้กานต์ได้ประสบการณ์ ทั้งจากธุรกิจหลักทรัพย์ ตลอดจนก้าว ขึ้นมาเป็นผู้พัฒนาผลิตภัณฑ์เองจึงเป็นที่มาของโอกาสใหม่นั่นก็คือ เข้ามาทำงานในกลุ่ม KTBST
กานต์เสริมว่าทุกวันนี้ตนสวม
2 หมวก ทั้งประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ KTBST LEND และตำแหน่งรองกรรมการผู้จัดการฝ่ายเทคโนโลยีการเงิน
(Fintech
Integration) ในบริษัทหลักทรัพย์เคทีบีเอสทีจำกัด
(มหาชน) (KTBST SEC) ดูแลเรื่องเทคโนโลยีทางการเงินใหม่ๆ ที่สามารถเข้ามาเพิ่มโอกาสทางธุรกิจและประสิทธิภาพการทำงาน ซึ่งก็มีทั้งพัฒนาเพื่อใช้ภายในองค์กรเอง และพัฒนาสำหรับใช้เชื่อมต่อกับองค์กรภายนอก “อุตสาหกรรมทางการเงินในประเทศไทยกำลังเดินก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัลมากขึ้นทุกวันกลุ่มบริษัท
KTBST จึงต้องมีการเตรียมความพร้อมทั้งด้านทรัพยากรบุคคลและเทคโนโลยี เพื่อรองรับผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ๆในอุตสาหกรรมที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต
กำเนิด KTBST LEND
เพื่อคุณภาพชีวิตและสังคมที่ดีขึ้น
กานต์เล่าว่า หลังจากทำงานกับ KTBST SEC ด้านฟินเทคได้ประมาณ
1
ปี ก็เริ่มมองเห็นช่องว่างและโอกาสในอุตสาหกรรมการเงินนั่นก็คือ การปล่อยสินเชื่อแก่รายย่อยในประเทศไทยนั้นยังไม่ครอบคลุมเท่าที่ควร ทั้งการเข้าถึงแหล่งเงินทุนและความยุ่งยากในการขอสินเชื่อ ประกอบกับในช่วงนั้นหน่วยงานภาครัฐและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)
มีทิศทางในการสนับสนุนสินเชื่อบุคคลช่องทางใหม่ๆ และการนำเทคโนโลยีเข้ามา เพื่อลดขั้นตอนการขอสินเชื่อ เช่น ดิจิทัลเลนดิ้งหรือสินเชื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่ต่างจากสินเชื่อในรูปแบบเดิมๆ เน้นให้บริการผ่านช่องทางดิจิทัลทั้งหมด เพื่อลดความยุ่งยากในขั้นตอนการขอสินเชื่อและเอกสารกระดาษแบบเดิมๆ ดร.วิน อุดมรัชตวนิชย์ ในฐานะประธานกรรมการบริหารกลุ่มบริษัท
KTBST จึงได้นำแนวคิดของธปท.มาต่อยอดว่า จะสามารถนำมารวมกับเทคโนโลยีที่มีอยู่และนำไปใช้ได้จริงในอุตสาหกรรมได้อย่างไร
จึงเป็นที่มาของการพัฒนาแนวคิดสินเชื่อสวัสดิการ เพราะส่วนหนึ่งนั้นบริษัทในกลุ่ม
KTBST ให้บริการเกี่ยวกับการลงทุนอยู่แล้วแต่ในด้านสินเชื่อที่จะช่วยเหลือกลุ่มคนที่เข้าไม่ถึงระบบสถาบันการเงินนั้นยังไม่ได้ทำ
“โดยภาพรวมของประเทศไทยนั้นมีประชาชนจำนวนมาก ที่เข้าไม่ถึงสินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ เห็นได้จากยอดบัญชีสินเชื่อส่วนบุคคลจากธนาคารพาณิชย์ในไทยมีอยู่เพียงแค่ประมาณ
3.4 ล้านบัญชี ในขณะที่ ยอดบัญชีสินเชื่อบุคคลจากนอนแบงก์มีมากกว่า 10.7
ล้านบัญชี โดยอัตราดอกเบี้ยของสินเชื่อส่วนบุคคลจะอยู่ในระดับสูงที่ประมาณ 16-25% ต่อปี” จากตัวอย่างที่กานต์กล่าวข้างต้นเขาบอกว่าสะท้อนให้เห็นถึงความต้องการในการเข้าถึงสินเชื่อยังมีอีกมาก แต่ด้วยบางอาชีพกลุ่มคนบางกลุ่มยังติดข้อจำกัดในหลายๆ ด้าน ที่ทำให้ไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อจากสถาบันการเงินได้ จึงทำให้เกิดสินเชื่อสวัสดิการขึ้นที่เคทีบีเอสทีเลนด์
“เพื่อแก้ไขปัญหาสินเชื่อในไทย เราจึงจัดตั้งบริษัทเคทีบีเอสทีเลนด์ที่ดูแลในเรื่องของสินเชื่อสวัสดิการออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นการให้บริการแพลตฟอร์มสินเชื่อสวัสดิการ ให้แก่องค์กรเพื่อมุ่งมั่น ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์สินเชื่อสวัสดิการ และสินเชื่อส่วนบุคคล ตลอดจนบริการคลินิกขจัดปัญหาหนี้ เพื่อคุณภาพชีวิตและสังคมที่ดีขึ้น และเพื่อเป็นผู้นำด้านสินเชื่อสวัสดิการ และสินเชื่อส่วนบุคคลในประเทศไทย”
แอปพลิเคชั่น LEND U ครบเครื่องเรื่องสินเชื่อสวัสดิการพนักงาน
กานต์กล่าวว่าสิ่งที่ KTBST LEND ทำคือการวางแนวคิดสินเชื่อสวัสดิการพนักงาน (Welfare Loan) ใหม่ทั้งหมดว่าจริงๆ แล้วสินเชื่อสวัสดิการพนักงานควรเป็นสิทธิและสวัสดิการที่พนักงานในองค์กรพึงได้อยู่แล้ว เช่น ถ้าพนักงานทำงานในองค์กรมา 1 ปี จะมีสิทธิขอกู้เงินวงเงินไม่เกิน 1 เท่า ของเงินเดือน จะใช้สิทธิกู้หรือไม่กู้ก็ได้ แต่ถ้ากู้ก็ต้องสามารถทำได้ทันทีไม่จำเป็นต้องขอเอกสารอื่นเพิ่มเติมแล้ว เพราะวงเงินนั้นคือสวัสดิการส่วนหนึ่งที่บริษัทตกลงมอบให้แก่พนักงาน
กานต์เสริมว่า ปัจจุบันหลายๆ องค์กรในไทยยังไม่สามารถทำแบบนั้นได้ เนื่องจากการพัฒนาระบบให้สอดคล้องกับแนวคิดนี้ ประกอบด้วยหลายส่วนไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของระบบงานสินเชื่อระบบเงินเดือนพนักงานช่องทางการรับเงินเดือน ที่บางบริษัทยังรับเงินสดบางบริษัทรับผ่านธนาคาร ซึ่งการพัฒนาระบบต่างๆ ให้มาทำงานร่วมกัน ถ้าไม่ใช่องค์กรขนาดใหญ่ที่มีโครงสร้างพื้นฐานด้านไอทีที่แข็งแรง จะเกิดความวุ่นวายและซับซ้อนมาก
อีกส่วนที่ถือเป็นปัจจัยสำคัญ และเป็นความเสี่ยงให้แก่องค์กรคือเรื่องของภาระในการติดตามหนี้สินของพนักงานบางคนลาออกบางคนเสียชีวิตกะทันหัน และยังชำระหนี้ไม่ครบ ก็อาจทำให้องค์กรต้องติดตามหนี้สินของพนักงานเอง ซึ่งบางองค์กรไม่ได้อยู่ในอุตสาหกรรมการเงินก็อาจจะไม่มีประสบการณ์ และไม่ต้องการเพิ่มภาระ จึงเป็นสาเหตุให้องค์กรพยายามผลักดันความรับผิดชอบนี้ไปสู่สถาบันการเงินแทน ซึ่งผลที่ออกมาก็ไม่ต่างจากการขอสินเชื่อแบบปกติ ดังนั้น KTBST LEND ได้พยายามหาวิธีแก้ Pain Point หลัก 2 เรื่องด้วยกันคือการวางระบบที่ยุ่งยาก และการติดตามภาระหนี้สิน
โดยได้พัฒนาโมบายล์แอปพลิเคชั่น LEND U ขึ้นมาเพื่อตัดปัญหาการวางระบบที่ยุ่งยากภายในองค์กรพนักงานที่สนใจขอสินเชื่อสามารถสมัครสินเชื่อสวัสดิการผ่านแอปพลิเคชั่นได้ในอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำอยู่ที่ประมาณ 10-15% ต่อปี เงินเดือนเริ่มต้นที่ 12,000 บาทวงเงินสูงสุด 1-3 เท่าของเงินเดือนสูงสุด ไม่เกิน 2 แสนบาท การยืนยันตัวตนก็ทำได้สะดวกสบาย ไม่ต้องส่งเอกสารเซ็นเอกสาร สามารถทำผ่านแอปพลิเคชั่นได้ทันที ใช้เอกสารเพียงแค่บัตรประชาชนใบเดียวและยืนยันตัวตนด้วย OTP ผ่านเบอร์มือถือ ระยะเวลาในการพิจารณาสินเชื่อ 2-3 วัน และสามารถรับเงินผ่านบัญชีเงินเดือนได้เลย ทั้งนี้ บริษัทที่ใช้บริการสินเชื่อสวัสดิการของ KTBST LEND ไม่มีค่าใช้จ่ายในการติดตั้งระบบและดำเนินการการเรียกเก็บ และชำระค่างวดของสินเชื่อนั้น จะเป็นกรณีผ่อนชำระค่างวดประจำ 12 เดือน ซึ่งระบบจะหักชำระค่างวดประจำเดือนแบบอัตโนมัติ จากบัญชีเงินเดือนตามที่ระบุไว้ในสัญญาสินเชื่อ หรือกรณีที่ต้องการปิดยอดสินเชื่อก่อนกำหนด สามารถแจ้งสอบถามยอดปิดสัญญาสินเชื่อได้เช่นกัน
สำหรับแอปพลิเคชั่น “LEND U” ประกอบด้วย 3 ฟังก์ชั่นหลัก ฟังก์ชั่นแรก สมัครสินเชื่อสวัสดิการ ฟังก์ชั่นที่ 2 เมนูบทเรียนในรูปแบบ e-learning พร้อมแบบทดสอบที่รวบรวมความรู้ ทั้งการบริหารจัดการหนี้การคำนวณอัตราดอกเบี้ยแบบลดต้นลดดอก ความรู้ด้านการลงทุนเพื่อสร้างวินัยการออมเงิน ซึ่งฝ่ายบุคคล (HR) ของแต่ละบริษัทสามารถออก แบบใส่เนื้อหาที่ต้องการให้พนักงานอบรมลงไปได้ และสามารถประเมินการเข้ามาใช้งานของพนักงาน และสร้างดอกเบี้ยอัตราพิเศษ เพื่อจูงใจให้กับพนักงานที่เข้ามาเรียนรู้ได้ และฟังก์ชั่นที่ 3 คือ การบันทึกรายรับรายจ่าย นอกจากนี้ KTBST LEND ยังเตรียมเพิ่มฟังก์ชั่นที่ 4 เกี่ยวกับการลงทุนแบบอัตโนมัติ (Robo Advisor) ในอนาคตซึ่งผู้ที่ยังมีภาระหนี้ก็สามารถเริ่มลงทุนได้ โดยไม่จำกัดเงินลงทุนขั้นต่ำ
เปิดแผนในอนาคต KTBST LEND
กานต์กล่าวว่า หลังจากที่จัดตั้ง KTBST LEND เมื่อเดือนมกราคม 2563 บริษัทได้เร่งดำเนินการขอใบอนุญาตจนกระทั่งเดือนมิถุนายน 2564 ก็ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับจากกระทรวงการคลัง เพื่อดำเนินธุรกิจให้บริการสินเชื่อสวัสดิการพนักงานแก่องค์กรภายนอก และธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลในอนาคต และได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวจากกระทรวงพาณิชย์ในเดือนพฤศจิกายน 2564 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว เนื่องจากผู้ถือหุ้นหลักคือ กลุ่มบริษัท KTBST ซึ่งมีผู้ถือหุ้นใหญ่เป็นต่างชาติ (เกาหลีใต้) ซึ่งตลอดปีที่ผ่านมา KTBST LEND ได้มีการพัฒนาแอปพลิเคชั่น LEND U เพื่อใช้สำหรับให้บริการสินเชื่อสวัสดิการพนักงาน และในช่วงกลางปีที่ผ่านมา ได้มีการทดลองระบบการสมัครสินเชื่อ และอนุมัติสินเชื่อสวัสดิการพนักงาน ผ่านแอปพลิเคชั่น LEND U ภายในกลุ่มบริษัท KTBST ที่มีอยู่ 7 บริษัท
โดยมีพนักงานประมาณ 100 คนจาก 500 คนหรือคิดเป็น 20% ของพนักงานทั้งหมดเข้ามาใช้บริการซึ่งจากที่ทดลองมา ก็พบว่าระบบทำงานได้ดี รวมถึงผลตอบรับที่ได้จากพนักงานก็เป็นไปในทิศทางบวกทั้งหมด “การสร้างหนี้หรือกู้เงินคนส่วนใหญ่ ไม่อยากที่จะบอกใครยิ่งเป็นสินเชื่อสวัสดิการพนักงานด้วย แล้วการดำเนินการบางองค์กรต้องผ่านการอนุมัติของหัวหน้างาน แต่เมื่อทุกอย่างย้ายมาอยู่บนโมบายล์แอปพลิเคชั่นที่ทำทุกอย่างผ่านสมาร์ตโฟน ปัญหาความไม่เป็นส่วนตัวเหล่านี้ก็หมด ไปพนักงานก็สามารถขอสินเชื่อได้สะดวกมากขึ้น
สำหรับการปล่อยสินเชื่อสวัสดิการแก่องค์กรภายนอกของ KTBST LEND นั้นบริษัทมีแผนหาพันธมิตรโดยจะเริ่มต้นที่ประมาณ 5-10 บริษัท ในการมาร่วมใช้ระบบสินเชื่อสวัสดิการพนักงานผ่านแอปพลิเคชั่น LEND U โดยการพิจารณาบริษัทที่จะมาร่วมเป็นพาร์ตเนอร์มีเงื่อนไขว่า ต้องเป็นบริษัทที่เปิดมาแล้วอย่างน้อย 1 ปีมีการดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่อง มีจำนวนพนักงานตั้งแต่ 30 คนขึ้นไป และต้องมีระบบการจ่ายเงินเดือนผ่านธนาคาร มีทีมไอทีในการดูแล และเชื่อมระบบกับ KTBST LEND เพราะช่วงแรกของการทำระบบร่วมกันแต่ละองค์กรมีโครงสร้างพื้นฐานที่ต่างกันระยะ เวลาในการเซ็ตระบบก็แตกต่างกัน
ผมตั้งเป้าในปี 2565 สามารถให้วงเงินสินเชื่อสวัสดิการประมาณ 30-50 ล้านบาท หรือมีเอกชนใช้บริการไม่ต่ำกว่า 5 บริษัท และเพิ่มเป็น 40-50 บริษัท วงเงินสินเชื่อสวัสดิการไม่ต่ำกว่า 300 ล้านบาท ภายใน 5 ปีข้างหน้า” กานต์กล่าวทิ้งท้ายว่า สำหรับบริษัทที่มีเงินกองทุนสวัสดิการพนักงานอยู่แล้ว ก็สามารถเลือกใช้บริการสินเชื่อสวัสดิการพนักงานจาก KTBST LEND ได้เช่นกัน สิ่งสำคัญคือเราสามารถเพิ่มช่องทาง และตัวเลือกทางการเงินให้กับพนักงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
KTBST LEND พร้อมเป็นส่วนหนึ่งในแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ เพื่อนำไปสู่การบริหารจัดการหนี้สินในประเทศให้ดีขึ้น สนใจบริการสินเชื่อสวัสดิการพนักงานสำหรับองค์กรหรือต้องการสอบถามข้อมูล เพิ่มเติมติดต่อได้ที่ 02 351 1800 กด 4 หรือcustomerservice@ktbst.co.th
ติดตามคอลัมน์ People ได้ในวารสารการเงินธนาคาร
ฉบับเดือนธันวาคม 2564 ฉบับที่ 476