เผยยุทธศาสตร์ 5 แบงก์ยักษ์ พร้อมรับมือความผันผวนปี 64

แบงก์คาดปี 64 แม้เศรษฐกิจจะฟื้นตัวแต่ยังมีความผันผวนสูงวางยุทธศาสตร์พร้อมรับมือ กรุงเทพต่อยอดธนาคารแห่งภูมิภาค เชื่อภูมิภาคอาเซียนจะขับเคลื่อนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกหลังโควิด-19 กสิกรไทยบุกบริการลงทุน-ประกันเข้าถึงกลุ่มลูกค้ารายย่อยไทยพาณิชย์รุกธุรกิจ Wealth ควบคู่กับการลดต้นทุนกรุงไทยเกาะติดกลุ่มภาครัฐต่อยอดการเงินดิจิทัล กรุงศรีเชื่อมโยงความต้องการของลูกค้าทั่วทั้งภูมิภาคอาเซียน
BBL ต่อยอดธนาคารแห่งภูมิภาค
ชี้อาเซียนขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก
นายชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่
ธนาคารกรุงเทพ เปิดเผยว่า
ปัจจัยสำคัญที่สุดที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างรุนแรงในปี 2563
คือ วิกฤติการณ์การระบาดของโรคโควิด 19 โดยสามารถแบ่งการปรับตัวออกได้เป็น 3
ช่วง
ช่วงแรก
เนื่องจากไทยเป็นประเทศที่สองของโลกที่พบผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรน่า
ทำให้เราได้รับผลกระทบก่อนประเทศอื่นๆ
โดยการระบาดในช่วงนี้ได้ส่งผลที่ชัดเจนที่สุดต่อภาคการท่องเที่ยว ภาคการส่งออก
และห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมการผลิต
การที่รัฐบาลดำเนินมาตรการอย่างเข้มงวดเพื่อควบคุมการระบาดในเดือนมีนาคมต่อเนื่องถึงเดือนเมษายน
2563 ได้ส่งผลให้ภาคธุรกิจหลายๆ ส่วน
ต้องชะลอหรือหยุดการดำเนินกิจการเป็นการชั่วคราว
อีกทั้งยังทำให้คนจำนวนหนึ่งต้องทำงานอยู่ที่บ้านด้วยเหตุนี้ GDP ของไทยในไตรมาสที่
2 ของปี 2563
จึงติดลบมากถึง 12.1%
สำหรับในช่วงล็อกดาวน์ดังกล่าวธนาคารกรุงเทพมุ่งเน้นการดูแลลูกค้าอย่างใกล้ชิดและให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มที่ด้วยมาตรการต่างๆ
เช่น การผ่อนปรนเงื่อนไขการชำระหนี้การงดเว้นดอกเบี้ยเป็นการชั่วคราว
และการสนับสนุนสภาพคล่องเพิ่มเติมตามความจำเป็น
ช่วงที่สอง
หลังจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรน่ารายใหม่เริ่มลดลง รัฐบาลได้ผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์
เศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นตัว ธุรกิจบางส่วนสามารถกลับมาดำเนินกิจการได้ตามปกติ
โดยการค้าชายแดนมีปริมาณเพิ่มขึ้นตามลำดับ
และการส่งออกของไทยจากที่มีมูลค่าติดลบร้อยละ 22.5
ในเดือนพฤษภาคม เทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้วฟื้นตัวกลับมาติดลบเพียงร้อยละ 3.9
ในเดือนกันยายน (ข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย)
นอกจากนี้
ยังมีปัจจัยอีกหลายอย่างที่สนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ เช่น
มาตรการช่วยเหลือทางการเงินของรัฐบาล สำหรับทั้งผู้ประกอบการและประชาชนทั่วไป
ขณะที่เศรษฐกิจของจีนก็ได้ฟื้นตัวเร็วกว่าคาด ส่งผลต่อเนื่องให้ภาคอุตสาหกรรมของไทยหลายส่วนฟื้นตัวตามไปด้วยอย่างไรก็ตาม
เนื่องจากเศรษฐกิจโลกโดยรวมยังคงชะลอตัวอีกทั้งมาตรการปิดพรมแดนที่ยังคงมีผลอยู่
ทำให้การท่องเที่ยวจากต่างประเทศยังไม่สามารถกลับมาได้
กระทบต่อเศรษฐกิจไทยในวงกว้าง ดังนั้น แม้ GDP ของไทยในไตรมาสที่สามของปี
2563 จะดีขึ้นมากจากไตรมาสที่สอง
แต่ก็ยังหดตัวร้อยละ 6.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว
ช่วงที่สาม คือ ช่วงที่ภาคส่วนต่างๆ
ของระบบเศรษฐกิจและสังคม เริ่มปรับตัวให้สอดคล้องกับสภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป
ซึ่งอาจเรียกช่วงนี้ว่าเป็นการปรับตัวเข้าสู่ New Normal หรือ
ชีวิตวิถีใหม่ซึ่งเราคงต้องยอมรับว่า
การดำเนินชีวิตของทุกคนจะไม่มีวันกลับไปสู่สภาพที่เคยเป็นในปี 2562
หรือก่อนหน้านั้นโดยชีวิตวิถีใหม่ นอกจากจะเป็นผลพวงโดยตรงจากการระบาดของโรคโควิด 19
แล้ว ยังมีปัจจัยเร่งที่สำคัญอีกประการหนึ่ง นั่นคือ ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีดิจิทัล
ที่ทวีความสำคัญเพิ่มมากขึ้น ต่อวิถีชีวิตและการดำเนินธุรกิจของทุกคน
ซึ่งทำให้ภาคธุรกิจจะต้องปรับตัวให้พร้อมรับความเปลี่ยนแปลงของโลกยุคใหม่
ทั้งนี้
แม้ภาคธุรกิจบางส่วนยังไม่มีสัญญาณการฟื้นตัวในระยะสั้น โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว
ยังมีหลายภาคธุรกิจที่ได้รับอานิสงส์จากสถานการณ์โรคระบาดและกำลังเติบโตอย่างก้าวกระโดด
เช่น อุตสาหกรรมการผลิตเวชภัณฑ์การค้าอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมเกษตรและผลิตอาหาร
เป็นต้น
สำหรับปี 2564
แม้เราจะเริ่มเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์บ้าง จากข่าวดีเรื่องวัคซีน
ธนาคารมองว่าจะเป็นอีกปีหนึ่งที่เศรษฐกิจไทยต้องเผชิญกับความท้าทายอย่างมาก
ภาคธุรกิจแทบทั้งหมดยังจำเป็นที่จะต้องลดหรือควบคุมค่าใช้จ่ายให้ได้และอาจมีปัจจัยความท้าทายใหม่ๆ
ที่มาจากต่างประเทศ ขณะที่ความเสี่ยงจากการระบาดซ้ำของโรคโควิด 19
ในไทยรวมทั้งการที่เชื้อไวรัสโควิดจะกลายพันธุ์ก็ยังคงมีอยู่
นอกจากนี้
ยังมีประเด็นเกี่ยวกับภาคธุรกิจเอสเอ็มอีของไทย
ที่บางส่วนยังมีความเปราะบางและไม่สามารถไปต่อได้ในสภาวะแวดล้อมที่ไม่เอื้ออำนวย
ซึ่งอาจต้องปิดกิจการ ลดการจ้างงาน ส่งผลกระทบขยายวงต่อเนื่องได้
อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่ายินดีว่ารัฐบาลยังคงมุ่งหน้าผลักดันโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก
(Eastern Economic Corridor - EEC) โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ (Southern
Economic Corridor - SEC) รวมทั้งโครงการระบบสาธารณูปโภคขนาดใหญ่อื่นๆซึ่งจะเอื้ออำนวยให้ประเทศไทยสามารถเชื่อมโยงกับประเทศอื่นๆ
ในภูมิภาคนี้ได้ดียิ่งขึ้นโครงการพัฒนาต่างๆ
ดังกล่าวจะเอื้ออำนวยให้ประเทศในภูมิภาคนี้สามารถเชื่อมโยงถึงกันได้อย่างทั่วถึงซึ่งจะเกื้อหนุนการค้าและการลงทุนส่งผลให้เศรษฐกิจทั่วอาเซียนเจริญเติบโตได้อย่างต่อเนื่องในระยะยาว
โดยในปี 2564ธนาคารตั้งเป้าหมายว่า
การเติบโตของสินเชื่อโดยรวมจะสอดคล้องกับการเติบโตของ GDP ของประเทศ
นั่นก็คือประมาณ 4%ทั้งนี้เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยในระบบยังอยู่ในระดับต่ำมาก
ดังนั้นธนาคารจึงให้ความสำคัญกับการขยายฐานรายได้จากค่าธรรมเนียม
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านบริการ Cash Management บริการ
Bancassurance และบริการกองทุนรวม
สำหรับยุทธศาสตร์ของธนาคารสำหรับปี 2564 นายชาติศิริ กล่าวว่า ธนาคารมุ่งเน้นการสร้างประโยชน์ต่อยอดจากจุดแข็งเดิมของธนาคาร
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง
ความเป็นธนาคารไทยที่มีเครือข่ายสาขาต่างประเทศที่ครอบคลุมกว้างขวางที่สุด ธนาคารเชื่อมั่นว่า ภูมิภาคอาเซียนจะมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกหลังจากการระบาดของโรคโควิด
19
สงบลง โดยเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะเป็นทางเลือกใหม่สำหรับการตั้งฐานการผลิต และซัพพลายเชน
แทนที่ประเทศอินเดียและประเทศจีน
ธนาคารกรุงเทพ ในฐานะธนาคารที่ใหญ่เป็นอันดับ 6
ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
และธนาคารชั้นนำที่มีเครือข่ายสาขาที่ครอบคลุมกว้างขวางทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชีย
และมีบริการทางการเงินครอบคลุมหลากหลาย มีความพร้อมที่จะสร้างประโยชน์
และทำธุรกิจจากโอกาสใหม่ๆที่จะเกิดขึ้นทั่วภูมิภาค
ทั้งนี้ การที่ธนาคารได้ควบรวมธนาคารเพอร์มาตา
ประเทศอินโดนีเซีย เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มธุรกิจการเงินของธนาคารในปี 2563
และส่งผลให้เครือข่ายสาขาต่างประเทศของธนาคาร ขยายตัวอย่างก้าวกระโดด
จะเสริมสร้างจุดแข็งด้านต่างประเทศของธนาคารให้โดดเด่นยิ่งขึ้น
ปัจจุบัน ธนาคารเพอร์มาตา เป็น 1 ใน
10 ธนาคารที่ใหญ่ที่สุดในอินโดนีเซีย
ตามมูลค่าของสินทรัพย์รวม
การที่ธนาคารควบรวมธนาคารเพอร์มาตาเข้ามาอยู่ในครอบครัวบัวหลวง
ถือเป็นการดำเนินการทางยุทธศาสตร์ที่จะส่งผลให้ฐานธุรกิจของธนาคารมีการกระจายตัวกว้างขวางขึ้น
อีกทั้ง ยังจะเปิดโอกาสให้ธนาคารกรุงเทพสามารถขยายธุรกิจในอินโดนีเซีย
ซึ่งเป็นตลาดที่มีประชากรกว่า 270 ล้านคน และเศรษฐกิจจะเติบโตได้อีกมาก
ในขณะเดียวกัน ก็จะทำให้ธนาคารสามารถให้บริการทางการเงินที่กว้างขวางครอบคลุมยิ่งขึ้นแก่ลูกค้าในอินโดนีเซียและประเทศอื่นๆ
ที่มีเครือข่ายสาขาของธนาคารกรุงเทพปัจจุบัน
สินเชื่อในต่างประเทศของธนาคารกรุงเทพมีสัดส่วน 25%
ของสินเชื่อรวม
เดินหน้าพัฒนาเทคโนโลยี
หนุนธุรกรรมดิจิทัลเชื่อมโลก
นายชาติศิริ กล่าวว่า ธนาคารจะยังคงพัฒนาระบบเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่องในปี
2564 นี้ โดยเฉพาะเทคโนโลยี Distributed
Ledger หรือ Blockchain เพื่อสนับสนุนลูกค้าที่ค้าขายกับคู่ค้าทั่วโลก
ให้สามารถทำธุรกรรมทางการเงินได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย
ธนาคารกรุงเทพได้ร่วมกับลูกค้าที่ดำเนินธุรกิจระหว่างประเทศ
พัฒนาการทำธุรกรรมเปิด L/C ระหว่างประเทศไทยกับประเทศเวียดนาม
ด้วยเทคโนโลยีล่าสุดบน Beta Network ของ Contour ซึ่งเป็นบริษัทที่ร่วมก่อตั้งโดยธนาคารกรุงเทพ
กับธนาคารและองค์กรชั้นนำของโลก เพื่อการให้บริการด้านการค้าระหว่างประเทศ (Trade
Finance) โดยใช้ Enterprise Blockchain Platform ซึ่งสามารถลดระยะเวลาการเปิด
L/C เหลือเพียง 1
ชั่วโมง และช่วยให้การเรียกเก็บเงินตาม L/C จากผู้ซื้อ
ไม่ต้องส่งเอกสารที่เป็นกระดาษจำนวนมากระหว่างกัน
และลดเวลาในการเรียกเก็บและชำระเงินจากเดิม 3
สัปดาห์ เหลือเพียง 24 ชั่วโมง
ทั้งนี้ เนื่องจากลูกค้า
คู่ค้าและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจะได้รับข้อมูลการทำธุรกรรมจากระบบในเวลาเดียวกันแบบ
Real-time กระบวนการทำธุรกรรมที่โปร่งใส เชื่อถือได้
และมีความปลอดภัยสูง จะช่วยให้ลูกค้าสามารถดำเนินธุรกิจกับคู่ค้าทั่วโลกได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
โดยในปี 2562
ธนาคารได้ทดลองให้บริการในลักษณะเดียวกันแก่ลูกค้าที่มีธุรกรรมระหว่างประเทศไทยกับประเทศอินโดนีเซียได้สำเร็จเช่นกัน
นอกจากนี้ ธนาคารยังเน้นความสำคัญของบริการ Cash
Management ที่จะรองรับการเชื่อมต่อกับระบบของลูกค้าและพันธมิตร
เพื่อช่วยให้การดำเนินธุรกิจของลูกค้าและพันธมิตรมีประสิทธิภาพสูงขึ้น
สอดคล้องกับแนวโน้มของตลาดธนาคารจะพัฒนาต่อยอดจากความสัมพันธ์กับลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่และขนาดกลาง
โดยขยายการให้บริการของธนาคารให้เข้าถึงฐานลูกค้าของบริษัทต่างๆ เหล่านี้
“จะเห็นได้จากการร่วมมือกับเทสโก้โลตัส และเซเว่น-อีเลฟเว่น
เพื่อให้บริการ Banking Agent เพื่ออำนวยความสะดวกให้ลูกค้าสามารถฝากและถอนเงินในจุดบริการใกล้บ้านนอกเวลาเปิดทำการของสาขาธนาคาร
ซึ่งลูกค้ายังจะสามารถถ่ายภาพใบหน้าของตนเองสำหรับใช้แสดงตน
รวมถึงสำหรับการเปิดบัญชีออนไลน์ได้อีกด้วย”
นายชาติศิริ กล่าวว่า
ในปีนี้ธนาคารจะมีความร่วมมือกับพันธมิตรรายอื่นๆ
อีกเพื่อเพิ่มจุดให้บริการร่วมกับ Banking Agent ให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วประเทศ
ซึ่งเป็นการสนับสนุนนโยบาย Financial Inclusion ของธนาคารแห่งประเทศไทย
ที่มุ่งขยายบริการทางการเงินให้เข้าถึงประชาชนทุกกลุ่ม
เนื่องจากลูกค้าเลือกทำธุรกรรมทางการเงินพื้นฐานผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น
พนักงานในด่านหน้าของธนาคารจึงได้รับการพัฒนาทักษะในการให้บริการทางการเงินเฉพาะด้านมากขึ้น
เช่น Financial Planning, Wealth Management และบริการด้านการลงทุนต่างๆ
ในขณะเดียวกัน ธนาคารได้พัฒนาเทคโนโลยี Big Data เพื่อจำแนกกลุ่มลูกค้าตามความต้องการได้อย่างแม่นยำและเป็นปัจจุบัน
ซึ่งจะช่วยให้เจ้าหน้าที่ของธนาคารสามารถนำเสนอบริการแบบเฉพาะเจาะจงและมีประสิทธิภาพสำหรับลูกค้าแต่ละราย
โดยธนาคารยังคงดำเนินการตามแผนงาน Digital
Transformation อย่างต่อเนื่อง ซึ่งครอบคลุม 4
ด้านหลัก คือ
1. การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของระบบเทคโนโลยี
เพื่อประสิทธิภาพของระบบงานบริการทั้งองค์กร เช่น บริการด้านการชำระเงิน
บริการสำหรับลูกค้าบุคคล บริการสำหรับลูกค้าธุรกิจทุกขนาด รวมถึงลูกค้าของสาขาต่างประเทศ
ระบบงานรองรับการทำธุรกรรมจากลูกค้าโดยตรง (Straight Through Processing) เป็นต้น
2. การพัฒนาสถาปัตยกรรมดิจิทัลและระบบนิเวศ
เพื่อให้ระบบงานของธนาคารสามารถเชื่อมต่อกับระบบของลูกค้าและพันธมิตรได้อย่างราบรื่น
มีประสิทธิภาพเต็มที่ และมีความปลอดภัยสูง
3. การรักษาความปลอดภัยของข้อมูล
เพื่อปกป้องข้อมูลสำคัญทั้งของธนาคาร ลูกค้าและพันธมิตรทางธุรกิจ
สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมทางเทคโนโลยีในปัจจุบัน ที่ต้องมีการเชื่อมต่อระบบงานถึงกัน
การเก็บรักษาข้อมูลใน Cloud รวมถึงการทำงานนอกสถานที่ของบุคลากร
4. การวิจัยและพัฒนาเพื่อยกระดับความสามารถในการวิเคราะห์ข้อมูล
รวมถึงการพัฒนาบุคลากรที่ทำงานเกี่ยวกับ ปัญญาประดิษฐ์หรือ AI และ
Big Data รวมทั้งการพัฒนา Data Lake เพื่อสำหรับการดำเนินธุรกิจในยุคต่อไป
นอกจากนี้ ธนาคารยังมีการดำเนินธุรกิจภายใต้นโยบายการธนาคารที่มีความรับผิดชอบหรือ
Responsible Banking Policy โดยมุ่งเน้นการให้สินเชื่ออย่างมีความรับผิดชอบ
ซึ่งให้ความสำคัญเพิ่มเติมกับการนำประเด็นด้านผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม
รวมทั้งความเสี่ยงอื่นๆ มาเป็นข้อมูลประกอบในการพิจารณาให้สินเชื่อ
ตลอดหลายปีที่ผ่านมา
โครงการขนาดใหญ่ที่ธนาคารให้สินเชื่อ
ล้วนต้องผ่านการพิจารณาประเด็นความยั่งยืนและการประเมินความเสี่ยงที่อาจมีผลกระทบในเชิงสังคมและสิ่งแวดล้อม
ในปัจจุบัน ธนาคารได้กำหนดนโยบาย และแนวปฏิบัติตามมาตรฐานในการดูแลสิ่งแวดล้อม
สังคม และการกำกับดูแล (Environmental, Social and Governance Standards) ให้ทุกหน่วยงานสินเชื่อของธนาคารนำไปปฏิบัติ
ซึ่งส่งผลให้ลูกค้าของธนาคารในทุกภาคธุรกิจ
ต้องดำเนินธุรกิจเพื่อมุ่งสู่ความยั่งยืน
โดยธนาคารมีบทบาทในการชี้นำผ่านนโยบายการพิจารณาสินเชื่อดังจะเห็นได้จากการปรับตัวของอุตสาหกรรมพลังงาน
ที่ธนาคารกรุงเทพเป็นผู้สนับสนุนสินเชื่อรายสำคัญ
ซึ่งปรากฏว่าผู้ประกอบการมีแนวโน้มที่จะพัฒนาโครงการพลังงานหมุนเวียนมากขึ้น เช่น
โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำในประเทศลาว โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวลในประเทศไทย
โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมและแสงอาทิตย์ในประเทศไทยและเวียดนาม
รวมทั้งโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในญี่ปุ่น
และโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนจากใต้ดินในประเทศอินโดนีเซีย
ธนาคารยังสนับสนุนอุตสาหกรรมผลิตยานยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า
โครงการเส้นทางการขนส่งทางราง การนำวัสดุพลาสติกมารีไซเคิล
และการผลิตสายเคเบิลไฟเบอร์ออปติก สำหรับใช้ในงานก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานและเครือข่ายสื่อสาร
ภายใต้โครงการเส้นทางสายไหมศตวรรษที่ 21 หรือ Belt and Road
Initiatives
แนวโน้มที่สำคัญอีกประการหนึ่งที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศไทยคือการระดมเงินทุนสำหรับลงทุนในธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและมีความยั่งยืน
โดยในปี 2563 มีบริษัทต่างๆ ออกพันธบัตรสีเขียว หรือ Green
Bonds รวม 6 รายการ
ซึ่งธนาคารได้มีส่วนร่วมในการจัดจำหน่ายพันธบัตรดังกล่าวแทบทุกรายการ
อีกทั้งธนาคารยังได้สนับสนุนกระทรวงการคลังในการระดมทุนจำนวน 1
พันล้านดอลลาร์สหรัฐ จากการออกพันธบัตรเพื่อความยั่งยืน (Sustainability
Bond) เป็นครั้งแรกอีกด้วย
ทั้งนี้
ธนาคารจะได้เพิ่มความสามารถของเครื่องเอทีเอ็มให้รองรับการใช้บริการของผู้พิการทางสายตาเป็นธนาคารแรก
โดยระบบจะมีเสียงพูดที่ช่วยให้ลูกค้าสามารถถอนเงินได้อย่างถูกต้องตลอดการทำรายการ นอกจากนี้
ธนาคารตระหนักดีว่า ปัญหาหนี้ครัวเรือนเป็นปัจจัยหนึ่งที่ฉุดรั้งการพัฒนาประเทศ
ธนาคารจึงมุ่งแก้ปัญหานี้ตั้งแต่ต้นทาง
ด้วยการให้ความรู้และสร้างความเข้าใจเรื่องการออมแก่เยาวชน
ตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษาถึงอุดมศึกษา
ซึ่งธนาคารได้ดำเนินโครงการ “คนไทยยุคใหม่...ใส่ใจเรื่องเงิน”
ร่วมกับสมาคมธนาคารไทยเป็นปีที่สาม ในปี 2563
โดยมีวิทยากรอาสาสมัคร
ซึ่งเป็นผู้บริหารและพนักงานของธนาคารเข้าร่วมให้ความรู้แก่นักศึกษาในสถาบันการศึกษาต่างๆ
เช่น มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยรังสิต
มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย โดยธนาคารจะดำเนินโครงการให้ความรู้และสร้างความตระหนักเรื่องการออมสำหรับนักเรียนในระดับมัธยมศึกษาด้วยหลักสูตร
Saving and Services หรือ 2S’s ที่ธนาคารพัฒนาขึ้นเอง
เพื่อให้ครอบครัวคนไทยมีความมั่นคงทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน
Kbank ชี้ปี 64
แม้ฟื้นตัว
แต่ความไม่แน่นอนยังสูง
นางสาวขัตติยา
อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย (Kbank) เปิดเผยว่า
เศรษฐกิจไทยในปี 2564 มีแนวโน้มฟื้นตัวเป็นบวกอย่างช้าๆ ที่ 2.6%(กรอบ
0.0-4.5%) โดยการใช้จ่ายของภาครัฐ
ทั้งการบริโภคและการลงทุนจะยังมีบทบาทสำคัญในการหนุนเศรษฐกิจ
ขณะที่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐก็ยังมีความจำเป็นต้องทำอย่างต่อเนื่อง
โดยประเมินว่างบประมาณภาครัฐที่เหลือจาก พ.ร.ก. เงินกู้ 1
ล้านล้านบาท รวมกับพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564
มีจำนวนราว 5 แสนล้าน
จะยังเพียงพอที่จะประคับประคองการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในปีหน้า
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าทิศทางเศรษฐกิจไทยจะมีแนวโน้มฟื้นตัวเป็นบวก
แต่ก็อยู่บนความไม่แน่นอนจากปัจจัยหลัก ดังนี้
1. สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสครั้งใหม่ในประเทศ
ตลอดจนความเพียงพอและการเข้าถึงวัคซีนป้องกัน COVID-19
รวมถึงประสิทธิผลของวัคซีน โดยปัจจุบัน
จำนวนวัคซีนที่ประเทศไทยมีการสั่งจองแล้วรวมถึงที่อาจมีตามมาในอนาคต
ยังมีอย่างจำกัด โดยครอบคลุมประชากรในประเทศไม่เกิน 1 ใน
3 ของประชากรทั้งหมด
ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19
ทั่วโลก ยังไม่คลี่คลาย ซึ่งกว่าวัคซีนจะมีผลต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ คงต้องใช้เวลา
ดังนั้น แนวทางการเปิดประเทศเพื่อรับนักท่องเที่ยวต่างชาติของไทยคงจะทยอยทำได้อย่างช้าๆ
หรือในช่วงครึ่งปีหลังเป็นอย่างเร็ว
2. ทิศทางการแข็งค่าของเงินบาท
ตามแรงหนุนของปัจจัยพื้นฐานจากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัด
เงินทุนเคลื่อนย้ายไหลเข้าไทย ขณะที่ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ
มีทิศทางอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่องจากการขาดดุลการคลังและดุลบัญชีเดินสะพัด
รวมถึงมาตรการผ่อนคลายทางการเงินอย่างมากของเฟด
ในขณะที่ การที่ไทยเข้าไปอยู่ในบัญชี Monitoring
List ของกระทรวงการคลังของสหรัฐฯ
ยิ่งทำให้โจทย์การแข็งค่าของเงินบาทมีความซับซ้อนมากขึ้น
โดยเฉพาะค่าเงินบาทที่แข็งค่าและมีแนวโน้มผันผวนมากขึ้น
ย่อมส่งผลกระทบต่อการส่งออกและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย
“ท่ามกลางทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย
ที่ยังมีความไม่แน่นอนต่างๆ ดังกล่าว ทำให้สถานะของลูกหนี้
และความสามารถในการชำระหนี้ของภาคธุรกิจและครัวเรือนหลังจากออกมาตรการช่วยเหลือทางการเงิน
ยังคงเป็นโจทย์สำคัญของธนาคารพาณิชย์
ซึ่งนับว่าเป็นความท้าทายในการดูแลเรื่องคุณภาพหนี้ รวมถึงการหาแนวทางแก้ไขปัญหาหรือแนวทางให้คำแนะนำแก่ลูกค้าธนาคารที่เหมาะสมในระยะถัดไป”
เผยยุทธศาสตร์ขับเคลื่อน
มุ่งเติบโตธุรกิจ-ตอบโจทย์ลูกค้า
สำหรับยุทธศาสตร์ธนาคารกสิกรไทยในปี
2564 นางสาวขัตติยา กล่าวว่า
จากสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID-19
ที่ส่งผลต่อพฤติกรรมผู้บริโภคและภาวะเศรษฐกิจเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก
ธนาคารกสิกรไทยจึงมีการทบทวนทิศทางและแผนยุทธศาสตร์ของธนาคาร
โดยยังคงมุ่งมั่นที่จะเป็นธนาคารแห่งความยั่งยืน (Bank of Sustainability) โดยยึดลูกค้าเป็นศูนย์กลาง
(Customer Centricity) ในการดำเนินธุรกิจ
และมีจุดมุ่งหมายในการเพิ่มอำนาจให้ทุกชีวิตและธุรกิจของลูกค้าในทุกๆกลุ่ม
ซึ่งมียุทธศาสตร์เพื่อการเติบโตทางธุรกิจและตอบโจทย์ลูกค้า (Growth
Strategy) ดังต่อไปนี้
1. เป็นผู้นำในการให้บริการชำระเงินทางดิจิทัล (Dominate Consumer Digital Payment) เพื่อเข้าถึงและให้บริการลูกค้าในสถานที่และเวลาที่ลูกค้าต้องการ รวมถึงได้ข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการที่เหมาะสมแก่ลูกค้าต่อไป ผ่านการยกระดับ K PLUS ให้เป็นดิจิทัลแพลตฟอร์มในการชำระเงินในทุกรูปแบบและช่องทาง รวมถึงการไปอยู่ใน Ecosystem ต่างๆ ของลูกค้า และพัฒนานวัตกรรมการรับชำระเงินรูปแบบใหม่ทั้งในและระหว่างประเทศทำให้ลูกค้าเห็นทั้งข้อมูลการเงิน ข้อมูลธุรกรรมทางธุรกิจและการส่งมอบสินค้าเพื่อให้ลูกค้ามั่นใจและส่งเสริมการทำธุรกิจของลูกค้าได้
2. ยกระดับการปล่อยสินเชื่อทั้งด้านธุรกิจและบุคคล (Reimagine Commercial & Consumer Lending) เพื่อช่วยเหลือลูกค้าในการดำเนินชีวิตและธุรกิจ รวมถึงสร้างรายได้เพิ่มแก่ธนาคาร บนความเสี่ยงที่คุ้มค่า ผ่านการใช้ข้อมูลและดิจิทัลมาเจาะกลุ่มลูกค้าสินเชื่อรายย่อย การพิจารณาราคาตามความเสี่ยงของลูกค้า การนำข้อมูลธุรกรรมทางธุรกิจที่ได้จากคู่ค้าใน Value Chain มาวิเคราะห์เพื่อหาลูกค้าที่มีทั้งความสนใจและมีความสามารถในการจ่ายคืนได้ รวมถึงการบริหารต้นทุนด้านความเสี่ยงและการปฏิบัติการได้อย่างมีประสิทธิภาพ
3. กระจายการให้บริการลงทุนและประกันไปยังกลุ่มลูกค้ารายย่อยและกลุ่มลูกค้าที่ยังเข้าไม่ถึงการลงทุนและประกัน (Democratize Investment & Insurance) ผ่านการแนะนำจากผู้ดูแลความสัมพันธ์ซึ่งจะคอยให้คำปรึกษาทั้งด้านสินเชื่อ ลงทุนและประกัน โดยยึดลูกค้าเป็นศูนย์กลาง ด้วยผลิตภัณฑ์ของธนาคาร และบริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงิน รวมถึงการให้บริการจากพันธมิตรทางธุรกิจของธนาคาร โดยในส่วนของลูกค้ารายย่อย ธนาคารได้พัฒนา Platform ในการลงทุนต่างๆ เพื่อช่วยให้ลูกค้าสะดวกและมีข้อมูลในการตัดสินใจได้อย่างต่อเนื่องบนต้นทุนที่มีประสิทธิภาพ
4. เจาะตลาดภูมิภาค
AEC (Penetrate Regional Market) ด้วยการให้บริการชำระเงินกับลูกค้าทุกกลุ่ม
และปล่อยสินเชื่อ Digital Lending ร่วมกับพันธมิตร
เพื่อให้ธนาคารเข้าถึงกลุ่มลูกค้าและทำธุรกิจใน AEC ที่กำลังเติบโตทั้งทางด้านประชากรและเศรษฐกิจ
5. ยกระดับประสบการณ์บริการและการขาย
(Strengthen Sales and Service Channel Experience) ผ่านการประสานการให้บริการของช่องทางต่างๆ
เพื่อให้ลูกค้าทำรายการได้ทุกที่ทุกเวลา
รวมถึงมีรูปแบบการขายและบริการที่เหมาะสมกับความต้องการของลูกค้าแต่ละระดับที่แตกต่างกัน
6. เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน เพื่อสร้างคุณค่าที่มากขึ้นจากการใช้ทรัพยากรที่มีประสิทธิภาพทั้งทรัพยากรบุคคล
ข้อมูล การเงิน และเทคโนโลยี (Improve Value-Based Productivity) เพราะค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่เป็นค่าใช้จ่ายพนักงานและเทคโนโลยี
และเป็นค่าใช้จ่ายที่ผูกพันระยะยาว
เราจึงต้องหาทางเพิ่มประสิทธิภาพเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่มากขึ้น ทั้งด้านการปรับปรุงกระบวนการ
การพัฒนาทักษะพนักงาน รวมถึงการลดขั้นตอนต่างๆ ในการทำงานให้ลดลงได้อย่างมีนัยสำคัญ
ทั้งนี้ เพื่อให้มั่นใจว่าสามารถนำยุทธศาสตร์ไปปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิผล
จะมีการจัดโครงสร้างการจัดการ การติดตามและปรับปรุงอย่างสม่ำเสมอเป็นรายไตรมาส (Quarterly
Business Review) รวมถึงการปรับโครงสร้างองค์กรให้มีความยืดหยุ่นสามารถปรับตัวได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น
SCB มองปี 64 ผันผวนสูง
พร้อมรับมือทุกสถานการณ์
นายอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร
และประธานกรรมการบริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) เปิดเผยว่า
ปี 2564
ยังคงเป็นปีที่มีความผันผวนและไม่แน่นอนสูงมากจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19
ทั้งระลอกใหม่ในประเทศและการระบาดอย่างรุนแรงกว้างขวางในต่างประเทศ
แต่แม้ว่าทุกประเทศยังต้องเผชิญกับการระบาดของไวรัสแต่ก็เป็นการเดินหน้าโดยที่พอจะเห็นแสงสว่างอยู่บ้างจากความคืบหน้าของการพัฒนาวัคซีน
ทั้งนี้ผลจาก COVID-19 ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจเกิดขึ้นช้าลง
ส่งผลกระทบต่อความต้องการซื้อในตลาดโลกอ่อนแอลงไป
รวมทั้งส่งผลต่อภาคการท่องเที่ยวที่หายไปในทันที่
อย่างไรก็ดี ภาพโครงสร้างเศรษฐกิจที่จะเปลี่ยนไปไม่เหมือนเดิมหลังจากนี้รวมทั้งสถาการณ์ด้านตลาดเงินตลาดทุน
ตลอดจนสถานการณ์ทางการเมืองของหลายประเทศในโลกล้วนเป็นสิ่งแวดล้อมที่มีความเสี่ยงมาก
ซึ่งอาจจะเป็นปัจจัยลบที่รุนแรงนอกจากเรื่องของ COVID-19
สำหรับเศรษฐกิจไทยในปี 2564
คาดว่า จะขยายตัวที่ 3.8% ซึ่งแม้จะกลับมาขยายตัวเป็นบวก
จากฐานที่ต่ำ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก
เม็ดเงินของภาครัฐทั้งจากในงบประมาณและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม
รวมถึงการกระจายวัคซีนในช่วงครึ่งหลังของปี แต่ผลของแผลเป็นทางเศรษฐกิจ (Scarring
Effects) จะยังคงกดดันการฟื้นตัวของอุปสงค์ภาคเอกชน
ในส่วนของเม็ดเงินจากภาครัฐคาดว่าจะมีจำนวนมากกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้
โดยเฉพาะการลงทุนภาครัฐที่มีแนวโน้มขยายตัวได้ดี นอกจากนี้ ยังมีวงเงินเหลือจาก
พ.ร.ก. กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท อีกประมาณ 5
แสนล้าน ที่รัฐสามารถใช้ได้ในปี 2564
ซึ่งล่าสุด รัฐบาลได้ออกมาตรการคนละครึ่งระยะที่ 2
และให้เงินสนับสนุนเพิ่มเติมกับผู้ถือบัตรสวัสดิการ
รวมถึงขยายเวลามาตรการเราเที่ยวด้วยกัน
เป็นสัญญาณว่ารัฐยังพร้อมใช้มาตรการเพื่อพยุงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจต่อเนื่อง
ซึ่งจะเป็นผลดีต่อการใช้จ่ายของภาคประชาชน
สำหรับภาคส่งออกของไทย
มีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ตามทิศทางเศรษฐกิจและการค้าโลก อย่างไรก็ดี
ปัญหาการขาดแคลนและต้นทุนที่สูงขึ้นของตู้คอนเทนเนอร์โดยเฉพาะในช่วงปลายปีต่อเนื่องถึงช่วงต้นปีหน้า
และแนวโน้มค่าเงินบาทที่แข็งขึ้นตามทิศทางการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐ
จะเป็นปัจจัยกดดันเพิ่มเติมต่อการส่งออกในปีนี้
ขณะที่ การค้นพบวัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูงจากผู้ผลิตหลายราย
รวมทั้งการที่ไทยเป็นผู้ผลิตวัคซีน AstraZeneca จะมีส่วนช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวต่างประเทศในช่วงครึ่งหลังของปี
โดย คาดว่า จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปีหน้าจะอยู่ประมาณ 8
ล้านคน
นอกจากนั้น การระบาดรอบใหม่จะยิ่งสร้างแผลเป็นทางเศรษฐกิจที่ลึกและกว้างขึ้นให้กับเศรษฐกิจไทย ไม่ว่าจะเป็น
1. ความเปราะบางของตลาดแรงงาน ได้แก่ การว่างงานที่ยังคงอยู่ในระดับสูง จำนวนแรงงานที่ทำงานต่ำระดับที่เพิ่มขึ้นมาก และการที่แรงงานจำนวนมากต้องเปลี่ยนไปทำงานที่มีรายได้น้อยลง
2. การเปิด-ปิดกิจการที่ยังซบเซาต่อเนื่อง และ
3. ปัญหาหนี้ครัวเรือนต่อรายได้ที่เพิ่มสูงขึ้นมาก
ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่เป็นข้อจำกัดต่อการฟื้นตัวของการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนในระยะข้างหน้าทำให้แม้เศรษฐกิจจะขยายตัวได้ในปีหน้า
แต่ยังต้องพึ่งพาการใช้จ่ายของภาครัฐค่อนข้างมาก และระดับ GDP ทั้งปีในปีหน้าก็จะยังต่ำกว่าระดับในปี
2562
ด้านนโยบายการเงิน คาดว่าธนาคารแห่งประเทศไทย
(ธปท.) จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.5% ตลอดปี 2564
รวมทั้งใช้มาตรการเฉพาะจุดร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ
เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการส่งผ่านนโยบายการเงินและสนับสนุนการปรับปรุงโครงสร้างหนี้และการจัดการกับหนี้เสีย
ภาวะการเงินโดยรวมของไทยยังคงอยู่ในระดับผ่อนคลายจากการที่ ธปท.
คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ และใช้มาตรการต่าง ๆ
เพื่อเพิ่มสภาพคล่องและลดค่าใช้จ่ายด้านการชำระหนี้ให้แก่ครัวเรือนและธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ
ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยในปี 2564 ยังมีความเสี่ยงด้านต่ำที่สำคัญประกอบด้วย
1. การระบาดระลอกใหม่ของ COVID-19 และความล่าช้าในการกระจายวัคซีนในไทยอย่างแพร่หลาย
2. แผลเป็นทางเศรษฐกิจที่อาจส่งผลต่อเสถียรภาพสถาบันการเงินผ่านระดับหนี้เสียที่เพิ่มขึ้น ซึ่งจะกระทบต่อความสามารถในการเข้าถึงเงินทุนของภาคเอกชน
3. ปัญหาเสถียรภาพการเมืองในประเทศ ซึ่งอาจกระทบต่อความเชื่อมั่นในการลงทุน
4. ภัยแล้ง
จากระดับน้ำในเขื่อนที่ยังอยู่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในอดีต และ
5. ค่าเงินบาทที่แข็งเร็วกว่าคู่ค้าคู่แข่งซึ่งอาจกระทบต่อการฟื้นตัวของอุปสงค์ต่างประเทศ
สำหรับธุรกิจธนาคารในปี 2564
ธนาคารไทยพาณิชย์ยังเตรียมพร้อมเพื่อเฝ้าระวังกรณีเลวร้าย
โดยเตรียมเงินกองทุนของธนาคารให้มีความแข็งแกร่งเต็มที่ซึ่งธนาคารไทยพาณิชย์มีการวางแผนธุรกิจตามสถานการณ์แวดล้อมที่เกิดในลักษณะเมนู
โดยจะเตรียมพร้อมทุกสถานการณ์ เช่น หากทุกอย่างเริ่มกลับมาฟื้นฟูแล้วแผนธุรกิจจะเป็นอย่างไร
หรือหากสถานการณ์ยังทรงตัวแผนธุรกิจจะต้องเป็นอย่างไร
ตลอดจนหากสถานการณ์เสี่ยงสูงมากกว่าเดิมควรจะวางแผนธุรกิจอย่างไรซึ่งคณะกรรมการธนาคารเข้าใจในสถานการณ์เหล่านี้เป็นอย่างดีจึงไม่ได้กดดันธุรกิจด้วยเป้าหมายเชิงตัวเลข
แต่จะมีการทบทวนสถานการณ์และเป้าหมายในทุกเดือนและทุกไตรมาสเป็นระยะๆ
“หากตั้งเป้าหมายด้วยการยึดตัวเลขจะทำให้องค์กรยิ่งมีความเสี่ยงสูงมากกว่าเดิม
ซึ่งคณะกรรมการธนาคารจึงตกลงกันว่าจะไม่ยึดเอาเป้าหมายเชิงตัวเลขเป็นที่ตั้ง
ดังนั้นในไตรมาสแรกของปี 2564 ที่มองว่าเป็นช่วงเวลาไม่แน่นอนสูง
ธนาคารจึงจะไม่เร่งเรื่องเป้าหมายธุรกิจ
ท่ามกลางเศรษฐกิจที่เปราะบางมากๆ ก็อาจจะไม่เห็นการเติบโตมากนัก”
นายอาทิตย์กล่าวอีกว่า
แม้ว่าธนาคารจะไม่เร่งเรื่องสินเชื่อ แต่ไม่ได้ปฏิเสธสินเชื่อใหม่
โดยจะยังตั้งเกณฑ์พิจารณาตามปกติ แต่ในช่วงเศรษฐกิจที่เปราะบางอาจกระทบความสามารถในการชำระของลูกค้าให้ลดลงจนไม่เข้าเกณฑ์พิจารณาสินเชื่อของธนาคาร
ดังนั้นสินเชื่อของธนาคารในไตรมาสแรกจะเติบโตน้อยและไม่เร่ง ส่วนทั้งปี 2564
ก็ยังเป็นเรื่องยากต่อการคาดการณ์อาจจะดูเป็นรายไตรมาส
“สิ่งที่ต้องจับตาดูคือเรื่อง NPL มากกว่า
สินเชื่อไม่โตไม่น่ากลัวเท่าNPL จะโต
ซึ่งรายได้ของธนาคารไม่ได้มาจากการหาสินเชื่อใหม่
แต่มาจากสินเชื่อที่มีคุณภาพในการสร้างรายได้
หากยังสามารถรักษาสินเชื่อที่มีศักยภาพเอาไว้รายได้ก็จะไม่มีปัญหา
แต่หากเร่งการเติบโตของสินเชื่อมากไปก็อาจจะได้ไม่คุ้มเสีย”
อย่างไรก็ดี
หากมองไปไกลกว่านั้นบทเรียนที่ได้ในครั้งนี้คือความเสี่ยงอันไม่คาดคิดและเป็นความเสี่ยงสำคัญต่อโลก
ดังนั้นอาจจะเป็นสัญญาณว่าวัฏจักรการเกิดวิกฤติที่เคยเกิดในแต่ละครั้งจะมีความถี่เร็วขึ้นและรุนแรงขึ้น
ธุรกิจที่ต้องอิงงบการเงินเช่นธุรกิจธนาคารจะต้องทบทวนตัวเองเช่นกันว่าจะยังทำธุรกิจแบบเดิมต่อไปได้อีกหรือไม่
หรือควรจะต้องมองหานวัตกรรมเพื่อเพิ่มโอกาสที่ดีกว่า
เดินหน้ารุกธุรกิจ Wealth
มุ่งลดต้นทุนให้ต่ำลง
นายอาทิตย์ กล่าวด้วยว่า แม้ปี 2564
ธนาคารจะไม่ได้มุ่งหวังเรื่องรายได้จากสินเชื่อ แต่จะหันมาเน้นรายได้ที่มาจากการลงทุน
โดยเฉพาะในธุรกิจ Wealth ซึ่งในปี 2563
ทำได้ค่อนข้างดีตามแนวทางที่วางไว้ ซึ่งธุรกิจ Wealth ไม่ได้ลงไปช่วงชิงหาผลประโยชน์จากกลุ่มรายได้น้อย
แต่จะอยู่ในกลุ่มที่มีศักยภาพสูงซึ่งมีมากพอสมควร
รวมทั้งการบริหารจัดการความมั่งคั่งส่วนบุคคลเป็นกิจกรรมที่ทุกคนให้ความสำคัญที่จะนำไปสู่การสร้างรายได้ให้กับธนาคารในระยะต่อไป
“แม้รายได้จากธุรกิจ Wealth จะเป็นเป้าหมายสำคัญแต่แน่นอนว่าอาจจะไม่ได้สร้างรายได้มาทดแทนรายได้จากสินเชื่อ
แต่พอจะเป็นตัวค้ำยันไม่ให้รายได้ของธนาคารอ่อนแอลงไปมากจนเกินไป”
นายอาทิตย์กล่าวว่า สิ่งแรกที่ต้องทำในเรื่อง Wealth
คือ
ทำให้ลูกค้าตระหนักถึงความสำคัญของการวางแผนความมั่งคั่งเพื่ออนาคตและครอบครัว
นอกจากนี้การพัฒนาผลิตภัณฑ์จะไม่จำกัดแค่กลุ่มที่มีรายได้สูงมีเงินออม หรือมีเงินเหลือเท่านั้น
แต่จะต้องออกแบบให้ผลิตภัณฑ์เข้าถึงคนในทุกระดับในสังคมด้วย
“ในระดับบนจนถึงระดับโลกมีผลิตภัณฑ์ที่พร้อมแล้วและทำได้ดี
แต่ต้องมีผลิตภัณฑ์สำหรับคนที่ทำมาหาได้สามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์การออมการลงทุนได้
แม้จะเป็นก้อนเล็กๆ แต่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้พวกเขา
ซึ่งแนวทางสร้างความมั่งคั่งนี้จะเป็นเรื่องที่ธนาคารช่วยสร้างประโยชน์ให้กับประเทศ”
นอกจากการเดินหน้าธุรกิจ Wealth แล้ว
ธนาคารไทยพาณิชย์ยังมีเป้าหมายสำคัญอีกเรื่อง คือ การลดต้นทุน
โดยในปีที่ผ่านมาสามารถลดต้นทุนลงได้เป็นเลขสองหลักแล้วและจะเดินหน้าต่อเนื่องไปถึงปี2564
ทั้งนี้การเปลี่ยนโครงสร้างต้นทุนของธนาคารจะไม่ใช่เรื่องลดค่าใช้จ่าย
แต่จะหมายถึงการเปลี่ยนช่องทางและการเปลี่ยนกระบวนการจัดการทำงานทั้งหมด
“จากเดิมที่เคยใช้คนในการให้บริการการขายและต้องมีต้นทุนคอมมิสชั่น
ซึ่งจะจะเปลี่ยนไปใช้ช่องทางดิจิทัลเต็มรูปแบบที่มีต้นทุนลดลง
ส่วนพนักงานจะยังคงมีรายได้ประจำ เป็นตัวอย่างของการปรับโครงสร้างต้นทุนในการบริการลูกค้า”
นายอาทิตย์ กล่าวอีกว่า ในไตรมาสแรกของปี 2564
จะเริ่มเห็นการร่วมมือระหว่างธนาคารและ บมจ.เอฟดับบลิวดี ประกันชีวิต (FWD) พันธมิตรด้านประกันชีวิตรายสำคัญของธนาคารในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ่านช่องทางดิจิทัลโดยเป็นการปรับผลิตภัณฑ์ให้เข้ากับกลุ่มรายย่อยมากขึ้น
ส่วนเรื่องของธุรกิจการลงทุนธนาคารจะร่วมมือกับกลุ่มธุรกิจในเครือทั้ง
บริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จูเลียส แบร์ จำกัด, บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนไทยพาณิชย์(บลจ.)และบริษัทหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์(บล.)โดยจับกระแสใหญ่ในเรื่องการลงทุนคือการออกไปลงทุนต่างประเทศ
เพราะการลงทุนในประเทศอาจจะไม่เพียงพอต่อการหาผลตอบแทนที่ดี
อย่างไรก็ดี ในปี 2564
จะเป็นปีแห่งการลงมือทำธนาคารไทยพาณิชย์จะมีการปรับโครงสร้างองค์กรใหม่อีกครั้ง
โดยเฉพาะการ Transformation วิถีในการทำงานให้สอดรับกับโลกใหม่ของธุรกิจ
เพราะการทำงานแบบไปเรื่อยๆอย่างที่เคยทำจะใช้ไม่ได้อีกแล้ว
เมื่อโอกาสและทิศทางภาคธุรกิจเปลี่ยน
ตลอดจนสังคมเปลี่ยนไปทำให้ธุรกิจในระยะข้างหน้าไม่เหมือนเดิม
“ธุรกิจธนาคารต้องสร้างมูลค่าเพิ่ม
มีนวัตกรรมมีความแตกต่าง รวมทั้งต้องมีสัมพันธ์ที่ดีแนบแน่นระหว่างธนาคารและลูกค้าทุกกลุ่ม
ในยุคดิจิทัลเต็มตัวไทยพาณิชย์ต้องพาตัวเองเข้าเข้าไปในนิเวศน์ใหม่ในชีวิตของลูกค้า
เพราะมัวแต่รอลูกค้าทำธุรกรรมแบบเดิมคงไม่รอด”
อย่างไรก็ดีสิ่งที่ได้เริ่มทำมาก่อนหน้าเช่น
การปรับการทำงานขององค์กรเป็นรูปแบบ Agile จะทำบทเรียนถูกเรียนผิดมาเปลี่ยนแปลงองค์กร
โดยแผนการปรับโครงสร้างองค์กรใหม่ของธนาคารจะเห็นชัดเจนหลังไตรมาสแรกนี้
นายอาทิตย์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ในปี 2564
จะเห็นธนาคารไทยพาณิชย์จับมือกับพันธมิตรระดับโลกหลายรายในการวางพื้นฐานด้านเทคโนโลยีเพื่อทำให้องค์กรเป็น
Technology Company อย่างที่ตั้งเป้าหมายเอาไว้
โดยจะเป็นการลงทุนกับพันธมิตรเพื่อขยายตลาดสร้างโอกาสในการแสวงหารายได้จากตลาดอื่นไม่ใช่แค่ในประเทศทั้งนี้งบประมาณที่จะใช้ในการลงทุนด้านเทคโนโลยีและโอกาสใหม่ๆ ในปี
2564 ของธนาคารไม่ได้ตั้งเพิ่มขึ้น
โดยจะเป็นงบประมาณที่ใกล้เคียงกับปี 2563
Krungthai เกาะติดภาครัฐ
ต่อยอดการเงินดิจิทัล
นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่
ธนาคารกรุงไทย (Krungthai) เปิดเผยว่า ในปี 2564
จะเน้นไปที่การรักษาศักยภาพของการดำเนินธุรกิจของธนาคารให้เติบโตขึ้นอย่างยั่งยืน
ท่ามกลางปัจจัยความไม่แน่นอนและความท้าทายของปัจจัยต่างๆ ที่เข้ามากระทบต่อธุรกิจธนาคาร
หลังการแพร่ระบาดโควิด-19
ที่ส่งผลให้เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยชะลอตัว
โดยธนาคารยังคงให้ความสำคัญกับการควบคุมคุณภาพสินเชื่อ
และการดูแลลูกค้าของธนาคารอย่างต่อเนื่อง
เพื่อทำให้ลูกค้าและธนาคารสามารถผ่านวิกฤติที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ไปได้
ทั้งนี้ ยังคงเน้นการพัฒนาบริการของธนาคารผ่านระบบดิจิทัลอย่างต่อเนื่องและยกระดับการบริการของธนาคารกรุงไทยให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
พร้อมกับนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในกระบวนการทำงานภายในของธนาคารกรุงไทย
เพื่อลดขั้นตอนการทำงานต่างๆ และทำให้การกระบวนการทำงานภายในของธนาคารรวดเร็วมากขึ้น
และสร้างธุรกิจรูปแบบใหม่เป็นตัวขับเคลื่อน
“ภายใต้การสร้างรูปแบบธุรกิจใหม่
ธนาคารจะไม่มีการปลดคนออก แต่จะเพิ่มทักษะความสามารถให้ทำงานได้หลากหลาย
โดยอาจจะนำสิ่งที่ธุรกิจเดิมมีอยู่มาต่อยอดเป็นธุรกิจใหม่ เช่น
คอลเซ็นเตอร์ที่ธนาคารทำได้ดีก็อาจจะให้ปรับให้เป็นบริการคอลเซ็นเตอร์สำหรับธุรกิจอื่นๆ ที่มีความต้องการบริการนี้
หรือการติดตามหนี้ที่ธนาคารชำนาญอยู่แล้วก็อาจจะเปิดรับให้บริการติดตามหนี้แก่ธุรกิจอื่นก็ได้”
นายผยงกล่าวอีกว่า
ธนาคารยังคงผลักดันแพลตฟอร์มที่เป็นระบบเปิดของธนาคารที่ได้พัฒนาขึ้นมา
โดยร่วมกับภาครัฐในการขับเคลื่อนระบบเปิดของธนาคาร
เพื่อทำให้ประชาชนทุกคนเข้าถึงการใช้บริการทางการเงินผ่านระบบดิจิทัลได้ง่ายและสะดวก
โดยเฉพาะแอพพลิเคชั่น "เป๋าตัง" ซึ่งได้มีการใช้งานอย่างแพร่หลายกว่า 40
ล้านรายมาตั้งแต่โครงการ ชิม ช้อป ใช้ โครงการเราเที่ยวด้วยกัน
และล่าสุดโครงการคนละครึ่ง ซึ่งถือว่าได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี
และช่วยผลักดันประชาชนเข้าถึงบริการทางการเงินผ่านระบบดิจิทัลมากขึ้น
"ธนาคารพยายามลดต้นทุนของการทำงานให้ลดลง
โดยเฉพาะการลดต้นทุนการให้บริการมาอยู่ที่ 35%
ภายใน 3 ปี จากปัจจุบันต้นทุนการให้บริการอยู่ที่ 42-48%
ซึ่งสูงกว่าคู่เทียบที่ 40%”
นายผยงกล่าวถึงแผนงานของธนาคารกรุงไทยในปี 2564
ว่า ตั้งเป้าสินเชื่อเติบโต 3%
ซึ่งสอดคล้องตามการคาดการตัวเลขเศรษฐกิจไทยในปีหน้าที่ขยายตัว 3%
แต่การเติบโตของสินเชื่อธนาคารจะเน้นไปที่สินเชื่อที่มีความเสี่ยงต่ำ
แต่ยังมีมาร์จิ้นในระดับที่เหมาะสม
เพื่อเป็นรักษาคุณภาพพอร์ตสินเชื่อของธนาคารให้อยู่ในระดับที่ดีตามภาวะที่เกิดขึ้นในช่วงนั้นๆ
ซึ่งในปีหน้าความเสี่ยงของเศรษฐกิจชะลอตัวยังคงเป็นปัจจัยที่กดดันต่อคุณภาพหนี้ของธนาคารต่อเนื่อง
ทำให้ธนาคารเน้นหันมาปล่อยสินเชื่อที่มีความเสี่ยงต่ำ เช่น
สินเชื่อในกลุ่มที่มีหลักประกัน
และสินเชื่อส่วนบุคคลในบางกลุ่มลูกค้าโดยจากการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ของการปล่อยสินเชื่อที่มีความเสี่ยงต่ำมากขึ้น
ส่งผลกระทบต่อส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) ของธนาคารในปี
2564 คาดว่า จะลดลงเล็กน้อยมาที่ 2.9%
จากปีนี้ที่ 3%
โดยที่สัดส่วนพอร์ตสินเชื่อของธนาคารในปีหน้าจะยังอยู่ในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกับปี 63
แบ่งเป็น สินเชื่อรายย่อย 40% สินเชื่อธุรกิจรายใหญ่และภาครัฐ 40%
และสินเชื่อเอสเอ็มอี 14-15%
ขณะที่แนวโน้มการตั้งสำรองฯ ในปี 2564
คาดว่าจะลดลงจากปี 2563
ซึ่งธนาคารได้มีการตั้งสำรองฯรองรับแนวโน้มหนี้เสียที่จะเพิ่มขึ้นหลังจากสิ้นสุดมาตรการพักชำระหนี้ของธนาคารแห่งประเทศไทยไปแล้วค่อนข้างมากในแล้วในปีก่อน
ทำให้การตั้งสำรองจะเป็นการตั้งสำรองในระดับปกติตามเกณฑ์
โดยที่อัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ (Coverage
Ratio) ของธนาคารจะอยู่ในช่วง 125-130%
ใกล้เคียงกับปีก่อนที่ 130%
อย่างไรก็ตาม แนวโน้มของสัดส่วนหนี้สงสัยจะสูญ
(NPL) ของธนาคารยังมองว่ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากปีนี้ที่คาดว่าอยู่ที่ราว
4% ต้นๆ หรือคิดเป็นมูลค่า 1.04-1.08
แสนล้านบาท โดยที่ในปี 2564 ธนาคารจะควบคุม NPL ให้ไม่เกินระดับ
5% และจะเน้นการบริหารจัดการ NPL เอง
โดยที่ยังไม่มีแผนการขายหนี้เสียออกไปเพื่อทำให้ NPL ลดลง
สำหรับงบลงทุนด้านเทคโนโลยีในปี 2564
จะยังใช้เงินลงุทนกว่า 10,000 ล้านบาท โดยมีงบลงทุนราว 6-7
พันล้านบาท ที่ไม่ได้ใช้ลงทุนจากงบลงทุนในปี 2563
ที่ตั้งไว้ทั้งหมด 14,000 ล้านบาท
เพื่อลงทุนในเทคโนโลยีต่างๆและนำเทคโนโลยีมาพัฒนากระบวนการทำงานภายในของธนาคารและพัฒนางานบริการให้กับลูกค้า
Krungsri เชื่อมโยงความต้องการ
ของลูกค้าทั่วทั้งภูมิภาคอาเซียน
นายเซอิจิโระ อาคิตะ
กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกรุงศรีอยุธยา(Krungsri) เปิดเผยว่า กรุงศรีมองว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยจะใช้เวลาอย่างน้อย
2 ปีในการกลับไปสู่ระดับก่อนเกิดวิกฤตโควิด-19 และหากไม่นับรวมผลกระทบจากความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นจากการแพร่ระบาดในประเทศรอบใหม่นี้
คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัว 3.3% ในปี 2564
เทียบจากฐานที่ต่ำจากการประมาณการว่าจะหดตัว 6.4%
ในปี 2563 นอกจากนี้
คาดว่าการฟื้นตัวจะกระจุกตัวเฉพาะในบางธุรกิจและอุตสาหกรรม
ด้วยมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและแรงหนุนจากนโยบายด้านการคลัง
การใช้จ่ายและการลงทุนของภาครัฐจะยังเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญที่สนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจ
ทั้งนี้
นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายต่อเนื่องจะยังเป็นปัจจัยสำคัญที่หนุนการบริโภคภาคเอกชน
แม้ว่าจะได้รับแรงกดดันจากรายได้ครัวเรือนที่ยังมีความอ่อนแอและความไม่แน่นอนสูง
การส่งออกสินค้าเริ่มปรับตัวดีขึ้น ขณะที่การส่งออกในภาคบริการจะฟื้นตัวในอัตราที่ช้ากว่าเนื่องจากนโยบายการเปิดให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาในจำนวนที่จำกัด
สำหรับปัจจัยเสี่ยงในระยะต่อไปจะรวมถึงการแพร่ระบาดของโควิด-19
ที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น ความสามารถในการจัดหาวัคซีน
และการเปิดประเทศให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวได้ในปี 2564
รวมทั้งความต่อเนื่องของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล
นายเซอิจิโระ กล่าวถึงยุทธศาสตร์และแผนธุรกิจธนาคารว่า ปี
2564 จะเป็นปีแรกของแผนธุรกิจระยะกลางฉบับใหม่ (Medium-Term
Business Plan หรือ MTBP) ซึ่งครอบคลุมปี
2564-2566 ซึ่งธนาคารได้มีการกำหนดแผน MTBP ฉบับที่
3 (2564-2566) โดยพิจารณาจากความสำเร็จและความท้าทายที่สำคัญของแผนธุรกิจระยะกลางฉบับที่
1 และ 2
ตลอดจนการดำเนินธุรกิจท่ามกลางวิกฤตการแพร่ระบาดและผลกระทบของโควิด-19
รวมถึงการเปลี่ยนแปลงสภาวะแวดล้อมและแนวโน้มของตลาดในระดับโลกและระดับประเทศ
ทั้งนี้
เมื่อมองย้อนกลับไปในแผนธุรกิจระยะกลางฉบับที่ 2 (2561-2563) กรุงศรีประสบความสำเร็จเป็นอย่างยิ่งในการดำเนินงานตามแผนกลยุทธ์และเป้าหมายที่วางไว้
ในขณะเดียวกันก็สามารถสร้างความเติบโตด้านสินทรัพย์อย่างต่อเนื่อง
พร้อมทั้งผลประกอบการทางการเงินที่แข็งแกร่งความสำเร็จภายใต้แผน MTBP ฉบับที่
2 (2561-2563) ที่สำคัญคือการบรรลุเป้าหมายสู่การเป็น “สถาบันการเงินชั้นนำของไทย”
และได้รับการยกย่องให้เป็นธนาคารพาณิชย์ที่มีความสำคัญเชิงระบบ (Domestic
Systemically Important Bank หรือ D-SIB)
รวมทั้งความสำเร็จในการดำเนินธุรกิจภายใต้หลักการธนาคารเพื่อความยั่งยืน
ด้วยการนำเสนอนวัตกรรมและผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่เป็นเลิศด้าน ESG
(Environmental, Social, and Governance)
สำหรับแผนธุรกิจระยะกลางฉบับที่ 3
(2564-2566) กรุงศรีมีจุดมุ่งหมาย “สู่การเป็นสถาบันการเงินไทยที่เป็นที่หนึ่งในใจลูกค้า
พร้อมเชื่อมโยงความต้องการของลูกค้าทั่วทั้งภูมิภาคอาเซียน” และได้กำหนดกลยุทธ์ด้านธุรกิจ
5 ประการ และกลยุทธ์ด้านการบริหาร 3
ประการ ดังนี้
กลยุทธ์ด้านธุรกิจ 5
ประการ
1. การปฏิรูปธุรกิจลูกค้ารายย่อยให้เป็นหนึ่งเดียว
(One Retail Transformation)
2. การเสริมสร้างประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจด้านลูกค้าธุรกิจ (Commercial
Business Enhancement)
3. การสร้างระบบนิเวศและพันธมิตรทางธุรกิจ
(Ecosystem and Partnership)
4. การขยายธุรกิจสู่ระดับภูมิภาค
(ASEAN Expansion)
5. การสร้างรายได้จากธุรกิจใหม่ (New Revenue Stream)
กลยุทธ์ด้านการบริหาร 3
ประการ
1. การเพิ่มผลิตผลและประสิทธิภาพ
(Productivity and Efficiency)
2. การพัฒนาด้านไอที
ดิจิทัลและการวิเคราะห์ (IT, Digital and Analytics)
3. การพัฒนาบุคลากรและองค์กร
(People and Organization)
ทั้งนี้ กรุงศรีจะดำเนินงานตามแผนกลยุทธ์ธุรกิจและกลยุทธ์ด้านการบริหารดังกล่าวเพื่อให้สามารถบรรลุจุดมุ่งหมายที่ได้กำหนดไว้ท่ามกลางปัจจัยท้าทายจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยังคงอยู่ โดยมีพันธกิจ 3 ด้านที่จะยังดำเนินการต่อเนื่องจากปี 2563 ได้แก่
1. การสนับสนุนและให้ความช่วยเหลือลูกค้าอย่างต่อเนื่อง
2. การบริหารคุณภาพสินทรัพย์ให้แข็งแกร่ง และ
3. การบริหารค่าใช้จ่ายอย่างมีประสิทธิภาพ
สำหรับกลยุทธ์ของธนาคารเพื่อรองรับการฟื้นตัวหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของ
Covid-19นายเซอิจิกล่าวว่า ตลอดปี 2563
กรุงศรีในฐานะธนาคารพาณิชย์ที่มีความสำคัญเชิงระบบ (D-SIB) ได้ออกมาตรการเชิงรุกเพื่อบรรเทาภาระทางการเงินสำหรับลูกค้าธุรกิจและลูกค้ารายย่อยที่ประสบปัญหาทางการเงิน
รวมทั้งให้การสนับสนุนการดำเนินนโยบายทางการเงินที่สอดคล้องกับมาตรการของธนาคารแห่งประเทศไทย
โดยธนาคารได้เร่งดำเนินการให้การสนับสนุนด้านสภาพคล่อง
รวมถึงการปรับโครงสร้างหนี้ให้กับภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19
จากการคาดการณ์ว่าการฟื้นตัวจะเกิดขึ้นกระจุกตัวเฉพาะในบางธุรกิจและอุตสาหกรรมรวมทั้งผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19
รอบใหม่ซึ่งอาจส่งผลให้แนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจชะลอลง
กรุงศรีจึงยังคงให้ความสำคัญกับการช่วยเหลือลูกค้าทุกกลุ่มที่ได้รับผลกระทบ
และสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจผ่านมาตรการด้านสินเชื่อและการปรับโครงสร้างหนี้ตลอดจนการสนับสนุนด้านสภาพคล่องเพิ่มเติม
นอกจากนี้ ธนาคารจะดำเนินการบริหารจัดการคุณภาพสินทรัพย์ด้วยความรอบคอบระมัดระวังเพื่อความแข็งแกร่งของพอร์ตสินเชื่อของธนาคาร และมุ่งเน้นการกำกับดูแลด้วยความเข้มงวดเพื่อให้เชื่อมั่นว่าธนาคารมีระดับเงินกองทุนและเงินสำรองในระดับสูงและมากเพียงพอในการรองรับความท้าทายด้านเศรษฐกิจและการเงิน