“ประสาร” ประธานบอร์ด ตลท. ชี้ 5 โอกาสและความท้าทายตลาดทุนไทย

ผู้เชี่ยวชาญตลาดทุน
ชี้ความท้าทายและโอกาสตลาดทุนไทย นอกจาก 4 จุดแข็ง มี 4 โจทย์ใหญ่
ที่ต้องรับมือเช่นกัน “ประสาร” ประธานบอร์ด ตลท. ชี้ 5
เรื่องสำคัญขับเคลื่อนเศรษฐกิจระยะสั้นและระยะยาว ประกอบด้วย
พัฒนาการทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ ความท้าทายจากสถานการณ์โควิด การปรับตัวและกระบวนการ
Digitalization พัฒนาการด้านสินทรัพย์ดิจิทัล
และความยั่งยืนกับการพัฒนาตลาดทุน ESG
ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานกรรมการ
ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ปาฐกถาพิเศษ “บทบาทตลาดเงิน ตลาดทุน
สู่จุดเปลี่ยนเศรษฐกิจไทย - Towards
the Future of Thai Economy” ในงานสัมมนา “SET ก้าวสู่ปีที่
48 ขับเคลื่อนตลาดทุนแห่งอนาคต - Make
it Work for Future” สำหรับโอกาสและความท้าทายของตลาดทุนไทย จะมี 5
เรื่องสำคัญที่เป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจทั้งระยะสั้นและระยะยาวดังต่อไปนี้
ประการแรก พัฒนาการทางด้านภูมิรัฐศาสตร์
ความขัดแย้งหรือสงครามต่างๆ
สามารถกระจายความเสี่ยงไปได้ทั่วโลกและทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นเรื่อยๆ
ในช่วงที่ผ่านมา ความเสี่ยงด้าน Geopolitics
มีมากขึ้น ครอบคลุมทั้งเหตุการณ์การเมือง
ความสัมพันธ์ ปัญหาสังคม และความขัดแย้งทั้งในและต่างประเทศ
มีการกระจายตัวไปทั่วโลกและทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นเรื่อยๆ
มีผลเชื่อมโยงต่อตลาดทุนโลกและตลาดทุนไทยทั้งทางตรงและทางอ้อมในหลายๆ ด้าน เช่น
ความผันผวนของราคาพลังงาน และอัตราเงินเฟ้อที่กระทบต่อผู้คนในสังคมจำนวนมาก
ดังตัวอย่างเรื่องความตึงเครียดด้านเศรษฐกิจการค้าของสหรัฐฯ-จีน
หรือความขัดแย้งระหว่างยูเครน-รัสเซีย
ที่กำลังเกิดขึ้นที่อาจเกิดฉากทัศน์และพัฒนาการของความขัดแย้งได้หลายรูปแบบ
ซึ่งแต่ละฉากทัศน์ก็อาจมีเครื่องมือหรือมาตรการในการขับเคลื่อนที่แตกต่างกัน
ทั้งมาตรการด้านเศรษฐกิจ และด้านการเมือง
ประการที่สอง ความท้าทายจากสถานการณ์โควิด
เศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นตัวจากสถานการณ์โควิด-19 แล้ว
ขณะที่บางธุรกิจยังต้องใช้เวลาในการฟื้นตัว โดยตั้งแต่การแพร่ระบาดของโควิด-19
ทั้งโลกต่างได้รับผลกระทบโดยเฉพาะปัญหาด้านเศรษฐกิจ
ขณะที่เศรษฐกิจไทยตอนนี้เริ่มฟื้นตัวจากสถานการณ์โควิด-19
แต่ในด้านเศรษฐกิจและตลาดทุนยังคงได้รับผลกระทบและฟื้นตัวได้แตกต่างกันไป
การฟื้นตัวแบบ K-shape คือกลุ่มที่ฟื้นตัวได้เร็ว หรือ K ขาบน
เป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับประโยชน์จากสถานการณ์โควิด-19
เติบโตทิศทางเดียวกับการฟื้นตัวของกลุ่มประเทศเศรษฐกิจชั้นนำของโลก เช่น
กลุ่มอุตสาหกรรมส่งออก ในขณะที่บางกลุ่มอาจต้องใช้เวลาในการฟื้นตัว หรือเป็น K ขาล่าง
เป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบค่อนข้างมากจากสถานการณ์โควิด-19 เช่น
ภาคการท่องเที่ยวและบริการยังต้องอาศัยแรงสนับสนุนจากภาครัฐ
ตลาดหลักทรัพย์ฯเองก็มีการผลักดันและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่จะช่วยให้ธุรกิจ
SMEs และ
Startups สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ดียิ่งขึ้น
ผ่าน LiVE Platform ซึ่งทำหน้าที่เป็นทั้งแหล่งความรู้ให้กับธุรกิจ
เตรียมความพร้อมในการเข้าสู่ตลาดทุน และเปิดกระดานซื้อขายในตลาดรองผ่าน LiVE Exchange ที่จะเปิดให้บริการในปี
2565 นี้
ประการที่สาม การปรับตัวและกระบวนการ Digitalization ดร.ประสารกล่าวว่า
“Digital Disruption คือโอกาสและความท้าทายของตลาดทุนไทย"
กระแส Digital Disruption
ได้เข้ามามีบทบาทและส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจ
เศรษฐกิจ และตลาดทุนเป็นอย่างมาก
ทั้งด้านโอกาสและความท้าทายในการดำเนินงานของหลายองค์กร เริ่มมีการปรับตัวนำ Digital Technology เข้ามาใช้
ด้านตลาดทุนเองก็มีการผลักดันด้าน Digitalization เพื่อส่งเสริมความคล่องตัวให้กับภาคธุรกิจผ่านการพัฒนาบริการและโครงสร้างพื้นฐานด้วยเช่นกัน
นอกจากนี้ กระบวนการ Digitalization
ในตลาดทุนยังครอบคลุมถึงฝั่งผู้ลงทุนมีแนวโน้มในการใช้
Digital Technology เพื่อเข้าถึงการลงทุนที่เปิดกว้างมากขึ้นในช่วงที่ผ่านมา
ไม่ว่าจะเป็นการเปิดบัญชีออนไลน์ การพิสูจน์และยืนยันตัวตน
หรือการเสริมความรู้ในการลงทุนอย่างมีประสิทธิภาพที่ e-Learning Platform
แต่อย่างไรก็ตาม
องค์กรในตลาดทุนควรให้ความสำคัญกับเรื่อง Cybersecurity ด้วย เพราะกระบวนการ Digitalization ที่เข้ามา
อาจเป็นช่องทางให้ผู้ไม่ประสงค์ดีก่อให้เกิดความเสียหายต่อองค์กร
ทั้งทางการเงินและชื่อเสียงได้
ประการที่สี่ พัฒนาการด้านสินทรัพย์ดิจิทัล Digital Technology เข้ามามีบทบาทในภาคการเงิน
โดยเฉพาะ Distributed
Ledger Technology (DLT) หรือ Blockchain ที่ถูกนำมาใช้ในภาคการเงินอย่างกว้างขวาง
และเป็นพื้นฐานของ Cryptocurrency
ซึ่งเป็นสินทรัพย์ดิจิทัลประเภทหนึ่งที่กำลังได้รับความสนใจจากผู้คนทั่วโลก
เทคโนโลยียุคดิจิทัลสมัยใหม่ช่วยให้ผู้คนเข้าถึงตลาดทุนได้ง่ายขึ้น
แต่ก็มีกฎระเบียบที่ต้องพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
“การลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นทั้งโอกาสด้านนวัตกรรมและความเสี่ยง
ควรมีการพัฒนา
กำกับดูแลให้มีความสมดุลระหว่างความเสี่ยงและการสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรม”
สำหรับประเทศไทยนั้น
ภายใต้โครงสร้างการกำกับดูแลในปัจจุบัน สินทรัพย์ดิจิทัลแบ่งได้ 3 ประเภทหลักๆ คือ
Cryptocurrency,
Investment Token และ Utility Token โดยภาคธุรกิจและกิจการต่างๆ
อาจเลือกระดมทุนด้วยการออก Investment
Token และ Utility Token ตลาดหลักทรัพย์ฯก็ได้มีการเตรียมพร้อม Platform ที่มีลักษณะเป็น
Open Architecture ซึ่งอยู่ระหว่างขออนุญาตทำธุรกิจ
Digital Asset Exchange ที่พร้อมเชื่อมต่อและให้บริการร่วมกับพันธมิตรต่างๆ
เพื่อให้บริการการลงทุน การระดมทุน
และบริการที่เกี่ยวเนื่องในตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลโดยจะเน้นให้บริการด้าน Digital Tokens ทั้ง
Utility และ
Investment Token
ประการสุดท้าย ความยั่งยืนกับการพัฒนาตลาดทุน ESG ไม่ใช่ทางเลือก
แต่คือทางรอดของธุรกิจในอนาคต การดำเนินธุรกิจให้ประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืนนั้น
ต้องมีการขยายแนวคิดให้กว้างขวางขึ้น โดยคำนึงถึงผู้มีส่วนได้เสียต่างๆ
สังคมและสิ่งแวดล้อม หรือปัจจัยด้าน ESG (Environmental, Social and Governance : ESG)
“หลักธรรมาภิบาล หรือ Governance ถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและปฏิรูปประเทศในด้านต่างๆ
ได้อย่างยั่งยืน”
ดร.ประสารกล่าวว่า
การที่องค์กรให้ความสำคัญกับการเติบโตทางเศรษฐกิจ
โดยมีนโยบายบริหารจัดการความเสี่ยงที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม
ย่อมมีผลตอบแทนที่ดีให้แก่ผู้ถือหุ้น
ตลาดทุนไทยจะมีบทบาทในการผลักดันให้องค์กรมีการเปิดเผยข้อมูล ESG พร้อมกับการพัฒนาระบบนิเวศธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
การเปิดเผยข้อมูลและรายงานด้านความยั่งยืนแก่ผู้ลงทุน
นับเป็นกระบวนการสำคัญที่ช่วยให้ผู้ลงทุนและผู้ใช้ข้อมูลได้เห็นถึงมุมมองการดำเนินธุรกิจในมิติที่กว้างกว่าข้อมูลทางการเงิน
ส่งผลให้เกิดความเชื่อมั่นต่อองค์กร
นอกจากจะส่งเสริมการนำหลัก ESG มาพัฒนาการดำเนินงานตามลักษณะการประกอบการของธุรกิจแล้ว
ตลาดหลักทรัพย์ฯ ยังได้ส่งเสริมเรื่อง ESG ให้กับทุก Stakeholders ในตลาดทุนผ่านโครงการต่างๆ เช่น การลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก
การจัดการขยะ การปลูกป่า และเตรียมพัฒนา ESG Data Platform เพื่อการนำข้อมูลด้าน ESG ไปใช้ในการลงทุนอย่างมีประสิทธิภาพ
ต่อจากนี้ตลาดทุนไทยจะเป็นอย่างไร?
ดร.ประสารได้กล่าวปิดท้ายไว้ว่า
ตลาดทุนไทยเติบโตขึ้นมาก ทั้งในแง่การเป็นแหล่งเงินทุนและช่องทางการลงทุน
ส่งเสริมความคล่องตัวให้กับภาคธุรกิจ ผ่านการพัฒนาบริการและโครงสร้างพื้นฐาน
พร้อมสนับสนุนเรื่องความยั่งยืนให้กับผู้มีส่วนได้เสีย และเมื่อมองไปข้างหน้า เราน่าจะได้เห็นความเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องก้าวต่อไปของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
"เราพร้อมรับทั้งโอกาสและความท้าทายที่จะเกิดขึ้น
สิ่งสำคัญคือต้อง “Rethink”
และ “Redesign” เพื่อปรับตัวและใช้ประโยชน์จากสถานการณ์ต่างๆ
ที่เปลี่ยนแปลงไป ไม่หยุดที่จะพัฒนาตลาดทุนให้เป็นกลไกที่ช่วยขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศต่อไป"
4 จุดแข็ง : 4 โจทย์ใหญ่ ตลาดทุนไทย
ดร.ภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวถึงจุดแข็งของตลาดทุนไทยในปัจจุบันใน 4 เรื่อง ประกอบด้วย
1. สภาพคล่องดีขึ้นมาก มีการซื้อขายวันละเกือบแสนล้านบาท
2. การเข้าจดทะเบียน มีทั้งบริษัทใหญ่และกลาง อยู่ในธุรกิจที่ไทยมีจุดแข็ง เช่น อุตสาหกรรมอาหารและท่องเที่ยว
3. สินค้าส่วนใหญ่เป็นสินค้าในประเทศ และ
4.
ฐานนักลงทุนเติบโตขึ้น ปัจจุบันมีกว่า 5 ล้านบัญชี
ในหัวข้อเสวนา “SET ก้าวสู่ปีที่ 48 ขับเคลื่อนตลาดทุนแห่งอนาคต - Wealth Driver for Fruitful Growth” ที่มีผู้ร่วมเสวนา
ประกอบด้วย นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย ดร.ณภัทร
จาตุศรีพิทักษ์ Managing
Director สถาบันอนาคตไทยศึกษา และ ดร.กิริฎา เภาพิจิตร
ผู้อำนวยการโครงการวิเคราะห์เศรษฐกิจเชิงลึก สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) โจทย์ใหญ่
4
ด้านที่ผู้ร่วมเสวนาชี้จุดสำคัญกับการพัฒนาตลาดทุนไทยที่ต้องเผชิญกับทั้งความท้าทายและโอกาส
ตลาดหลักทรัพย์ฯ
จะมุ่งมั่นทำงานร่วมกับพันธมิตรเพื่อปรับปรุงและส่งเสริมให้ดียิ่งขึ้น ดังนี้
โจทย์ข้อแรก การลงทุนแบบไร้พรมแดน
จะต้องสร้าง Online Application ที่สามารถเปิดบัญชีแบบ e-Open Account ให้ลงทุนได้สะดวกตลอดเวลา
ปลอดภัย เชื่อมต่อกับต่างประเทศได้ พร้อมทั้งเสนอผลิตภัณฑ์ต่างประเทศ Fractional DR ที่ลงทุนได้เหมือนกับสินทรัพย์ดิจิทัลในปัจจุบัน
และสามารถซื้อขายได้ตามทุนทรัพย์
โจทย์ข้อที่ 2 การเติบโตของธุรกิจนวัตกรรม
สนับสนุนการเข้าถึงตลาดทุนไทยของ SMEs และ
Startups ผ่าน
LiVE Platform ในรูปแบบ
Partnership Platform ด้วยความร่วมมือกับทั้งภาครัฐ
ภาคเอกชน ภาคการศึกษา เตรียมความพร้อมบริษัทเหล่านี้
และบริษัทที่มีศักยภาพในการเติบโต ให้สามารถเข้าระดมทุนได้ใน LiVE Exchange รวมถึงการออกกฎระเบียบให้กับภาคธุรกิจ
New S-Curve และธุรกิจเทคโนโลยีให้เข้ามาระดมทุนได้ง่ายขึ้นด้วย
โจทย์ข้อที่ 3 กระบวนการบริการแบบดิจิทัล
และการเติบโตของตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล
อนาคต Streaming จะเป็น Super App ในรูปแบบ One Stop Service ที่สามารถลงทุนได้ทั้งสินทรัพย์ดิจิทัล
อย่าง Investment Token และ
Utility Token ร่วมกับสินทรัพย์ดั้งเดิม
รวมถึงลงทุนในหุ้นต่างประเทศได้ผ่าน Fractional DR ด้วยเงินบาท
โจทย์ข้อที่ 4 การลงทุนยั่งยืน
หลังวิกฤตต้มยำกุ้ง ตลาดหลักทรัพย์ฯ มองว่า
การส่งเสริมธรรมาภิบาลเป็นเรื่องสำคัญ มีการจัดตั้งสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) และ
CG Center ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
และพัฒนาต่อยอดมาจนถึง CSR,
ESG และการทำธุรกิจยั่งยืนในปัจจุบัน
ผลที่ได้รับดีมาก บริษัทจดทะเบียนไทยได้รับการยกย่องทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก
ตลาดหลักทรัพย์ฯ กำลังพัฒนาการต่อเชื่อมข้อมูล ESG ของบริษัทจดทะเบียน
นำมาสร้างเป็นฐานข้อมูล ผ่าน "ESG Data Platform" และส่งต่อให้กับผู้ต้องการใช้อย่างสะดวก
มีมาตรฐาน มีความเหมาะสมกับธุรกิจ รวมถึงส่งเสริมให้นักวิเคราะห์สนใจวิเคราะห์ข้อมูลมากขึ้น
มีผลิตภัณฑ์ ESG ให้กับนักลงทุน
เช่น กองทุนรวม และ Index
เหล่านี้คือกระบวนการในการสนับสนุนให้การทำธุรกิจอย่างยั่งยืนมีความหมายและได้ผลอย่างแท้จริง
สภาธุรกิจตลาดทุนไทย ให้ 4
โจทย์ใหญ่กับโอกาสและความท้าทายของตลาดทุนในอนาคต
โจทย์แรก แหล่งลงทุนสำหรับธุรกิจ New Economy และเทคสตาร์ตอัพ
ในยุคไร้พรมแดน ตลาดหลักทรัพย์ไทย
พร้อมแค่ไหนที่จะแข่งขันกับตลาดอื่น ?
-
จากนี้ไปเราจะเห็นธุรกิจสตาร์ตอัพที่เป็นเทคโนโลยีเข้ามาระดมทุนมากขึ้น
มีความจำเป็นที่จะต้องสร้างความเข้มแข็งให้กับธุรกิจเหล่านี้
เพื่อยกระดับเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี
ดังนั้น ความท้าทายของตลาดหลักทรัพย์ฯ
คือการปรับปรุงหลักเกณฑ์ รวมถึงสร้างกระดานใหม่ขึ้นมา การทำงานร่วมกันกับสำนักงาน
ก.ล.ต. เพื่อสร้างกฎเกณฑ์ใหม่ รวมถึงการมีตราสารประเภทใหม่ๆ
เพื่อรองรับธุรกิจเหล่านี้
โจทย์ที่สอง การออกกฎเกณฑ์รองรับธุรกิจ SMEs
ส่งเสริมให้ SMEs เข้ามาระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ พร้อมไหม?
-
ตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่ผ่านมาขับเคลื่อนด้วยบริษัทขนาดใหญ่
การสนับสนุนและเปิดช่องทางการระดมทุนให้กับธุรกิจขนาดเล็กอย่าง SMEs จึงเป็นอีกโจทย์ใหญ่ของตลาดทุนที่จะต้องสร้างกฎเกณฑ์ให้เอื้อกับธุรกิจ
SMEs ให้ได้
โจทย์ที่สาม ความท้าทายจากพฤติกรรมของนักลงทุน
สร้างความน่าสนใจใหม่ให้กับตลาดหลักทรัพย์ฯ
พร้อมหรือยัง?
-
นับตั้งแต่การแพร่ระบาดของโควิด-19 เกิดขึ้น
นักลงทุนเริ่มคุ้นเคยกับการลงทุนในต่างประเทศ
สินทรัพย์ในตลาดต่างประเทศได้รับความนิยม โดยเฉพาะหุ้นเทคโนโลยี
โจทย์ของตลาดหลักทรัพย์ฯ คือทำอย่างไรให้คนมาลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ไทย
แทนที่จะไปลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ต่างประเทศ โดยเฉพาะนักลงทุนรุ่นใหม่
ตลาดหลักทรัพย์ฯ
จะทำอย่างไรให้เงินไม่ไหลออกไปต่างประเทศ? การสร้างตราสารต่างๆ
ขึ้นมาอาจช่วยกักเก็บเงินให้อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ไทยได้
โจทย์ข้อสุดท้าย Digital Transformation
ทางออกที่ดีที่สุด คือการออกโทเคน แต่คำถามคือ
ตลาดไทยพร้อมแล้วหรือยัง?
- Digital Transformation อาจไม่ใช่เรื่องใหม่
แต่สำหรับตลาดทุนนั้นเพิ่งเกิดขึ้นได้ไม่นาน ดังนั้น โจทย์ที่ท้าทายข้อสุดท้ายคือ
ทำอย่างไรถึงจะทรานส์ฟอร์มให้สามารถรองรับการระดมทุนในรูปแบบของดิจิทัลได้ เช่น
การออกโทเคนพร้อมไหม
ทำอย่างไรให้นักลงทุนรุ่นใหม่สามารถซื้อขายหุ้นแบบสัดส่วนได้และสะดวกสบายเช่นเดียวกับการลงทุนในคริปโต
ซึ่งจะช่วยดึงให้นักลงทุนรุ่นใหม่เข้าสู่สินทรัพย์ดั้งเดิมในรูปแบบของโทเคนที่เติบโตสูงเช่นเดียวกับคริปโทเคอร์เรนซีได้
ในอีก 5 ปีข้างหน้า หากตลาดหลักทรัพย์ไทยสามารถทำได้ทั้ง 4 โจทย์ใหญ่นี้ ก็มั่นใจได้ว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะสามารถรักษาตำแหน่งผู้นำตลาดทุนของอาเซียนได้อย่างแน่นอน