เจาะ 3 ปัจจัยส่งผลโลกการเงิน จัดแผนลงทุนรับไตรมาสสุดท้ายปี 63

ปี 2563 ผ่านไปเร็วกว่าที่คิด ส่วนหนึ่งน่าจะมาจากสถานการณ์ COVID-19 ที่เหมือนพาพวกเราวอร์ปจากไตรมาส 1 มาไตรมาส 3 อย่างไม่ทันตั้งตัวและไม่ทันไร ปัจจุบันเราก็เข้าสู่ไตรมาสสุดท้าย ไตรมาส 4 ของปีเป็นที่เรียบร้อย ซึ่งในไตรมาสนี้ มีหลายปัจจัยที่มีโอกาสส่งผลกระทบต่อวงการลงทุน ในบทความฉบับนี้ จึงจะพาท่านผู้อ่านร่วมเจาะรายละเอียดสถานการณ์ของแต่ละปัจจัย เพื่อเป็นข้อมูลสำคัญประกอบการตัดสินใจลงทุนในช่วงเวลาที่เหลือของปี 2563
ปัจจัยที่หนึ่ง :
ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ
วันที่ 3 พฤศจิกายน 2563 คือกำหนดการเลือกตั้งทั่วไปในสหรัฐฯ
ตามช่วงเวลาทุกๆ 4 ปี เพื่อส่งต่อผลไปยังElectoral College ให้ลงคะแนนเลือกประธานาธิบดีอย่างเป็นทางการ
ซึ่งเป็นที่เข้าใจกันดีว่า ประธานาธิบดีสหรัฐฯ มีอิทธิพลสูงในระดับสากล
ด้วยการมีอำนาจที่จะกำหนดนโยบายหลายด้านที่จะส่งผลกระทบต่อชาวโลก
ทั้งการค้าระหว่างประเทศ ความร่วมมือทางการทหาร และการจัดการโรคระบาด
จึงเป็นที่จับตามองว่าแนวคิดของผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งในสมัยหน้านั้นจะส่งผลต่อโลกอย่างไร
ในการเลือกตั้งครั้งที่จะถึงนี้
ผู้ครองตำแหน่งเดิมคือ โดนัล ทรัมป์ จะเสนอตัวเป็นสมัยที่สอง ในนามพรรครีพับลิกัน ส่วนผู้ท้าชิงจากฝั่งพรรคเดโมแครต
คือ โจเซฟ ไบเด็น อดีตรองประธานาธิบดี สมัยบารัก โอบามา
ด้านการกลับมาเปิด (Re-open)
เศรษฐกิจจากสถานการณ์ COVID-19 ไบเด็นมีนโยบายทำอย่างระมัดระวัง
ซึ่งระยะสั้นอาจทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวช้า แต่ก็ลดความเสี่ยงที่จะเสียหายจากการระบาดซ้ำ
ส่วนทรัมป์มีนโยบายเร่งเปิดโดยเร็วที่สุด ซึ่งหากควบคุมการแพร่ระบาดได้ ก็จะทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ
เดินหน้าต่อได้เร็วขึ้น
ด้านการลงทุนที่อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
ไบเด็น มีความชัดเจนในการสนับสนุนธุรกิจและการจ้างงานที่ลดการทำลายสิ่งแวดล้อม ผ่านวงเงินสนับสนุนสูงถึง
2 ล้านล้านดอลลาร์ รวมถึงมีแนวทางควบคุมการปล่อยมลพิษของยานพาหนะให้เข้มข้นขึ้น ส่วนทรัมป์
เน้นลงทุนในระบบคมนาคมพื้นฐาน เช่น ถนน สะพาน สนามบิน และผ่อนปรนมาตรการควบคุมการปล่อยมลพิษของยานพาหนะ
โดยไม่ได้เน้นหนักในด้านสิ่งแวดล้อม
ด้านสงครามการค้ากับจีน ไบเด็น มีนโยบายให้สหรัฐฯเคลื่อนไหวผ่านองค์การนานาชาติ
เพื่อคานอำนาจกับจีน ส่วนทรัมป์ มีนโยบายตอบโต้กับจีนโดยตรง
ทั้งนี้
ผลการหยั่งเสียงล่าสุด โดย Real Clear Politics ณ
วันที่ 23 ก.ย. 63
ไบเด็นมีคะแนนนำทรัมป์อยู่ 50.0 : 42.9
ที่มา : reuters.com, realclearpolitics.com
ปัจจัยที่สอง :
ความคืบหน้าในการค้นคว้าวัคซีน COVID-19
การพัฒนาวัคซีนจนถึงขั้นได้รับอนุมัติให้ออกใช้
จะแบ่งเป็น 3 ขั้นใหญ่คือ 1)
Pre-clinical Stage ทดสอบในสัตว์ 2)
Clinical Stage ทดสอบในมนุษย์ และ 3)
Approval ซึ่งใน Clinical
Stage ยังแบ่งเป็น 3 เฟสย่อย ซึ่งเฟส 3
จะเป็นการทดสอบเชิงประสิทธิผลกับกลุ่มประชาชนหลักพันราย
จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก ณ
22 ก.ย. 63 มีการพัฒนาวัคซีน 149 รายการ ใน Pre-Clinical Stage และมี 38 รายการที่รุดหน้ามาอยู่ใน
Clinical Stage โดยใน 38 รายการนี้
มี 9 รายการที่อยู่ในเฟส 3 นอกจากนั้นยังมีวัคซีนที่ได้รับ
Limited Approval แล้ว 5 รายการ เช่น
วัคซีนของ CanSinoBIO จากจีน
และ Sputnik V จากรัสเซีย ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญยังมีความกังวลต่อการใช้งานวัคซีนกลุ่ม
Limited Approval หากยังไม่ได้ศึกษาผลในวงกว้างเพียงพอ
ทั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญคาดว่าการอนุมัติวัคซีนที่ปลอดภัยเพียงพอ
อาจเกิดได้อย่างเร็วที่สุดคือต้นปี 2564 โดยขึ้นอยู่กับผลทดสอบเฟส 3 ใน Clinical
Stage เป็นสำคัญ
ที่มา : who.int, biopharmadive.com, nytimes.com
ปัจจัยที่สาม :
มุมมองต่อเศรษฐกิจและทิศทางนโยบายการเงิน ของธนาคารกลางประเทศหลักและไทย
สหรัฐฯ (Federal Reserve’s
FOMC) : ในการประชุมวันที่
16 ก.ย. 63 มีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0.00-0.25% พร้อมกับรักษาปริมาณธุรกรรมซื้อตราสารหนี้
(QE) ทั้งพันธบัตรรัฐบาลและตราสารหนี้องค์กรรัฐ
นอกจากนั้น กรรมการ FOMC ยังคาดการณ์ด้วยเสียงเอกฉันท์ว่า
อัตราดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐฯ จะยังคงอยู่ในระดับนี้ไปจนถึงปี 2564
พร้อมกับปรับประมาณการ GDP ปี 2563 ว่า จะติดลบน้อยลงกว่าเดิม
จาก -6.5% ในการคาดการณ์เดือน
มิ.ย. 63 มาเป็น -3.7% ในการคาดการณ์เดือน
ก.ย. 63
กลุ่มยุโรป (European Central
Bank หรือ ECB) : ในการประชุมวันที่
10 ก.ย.63 มีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0.00% พร้อมกับยืนยันเดินหน้าโครงการซื้อและลงทุนทดแทนสินทรัพย์เพื่อบรรเทาสถานการณ์
COVID-19 (PEPP) ในวงเงินรวม 1.35
ล้านล้านยูโร อย่างต่อเนื่องจนถึง มิ.ย. 64 เป็นอย่างเร็ว
อีกทั้งยังยืนยันเดินหน้าโครงการซื้อสินทรัพย์ (APP) เดือนละ 2 หมื่นล้านยูโร ร่วมกับวงเงินซื้อสินทรัพย์เพิ่มพิเศษอีก
1.2 แสนล้านยูโรภายในสิ้นปี 2563 นี้
ญี่ปุ่น (the Bank of
Japan’s MPC) : ในการประชุมวันที่
17 ก.ย.63 มีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ -0.10% พร้อมกับเดินหน้ามาตรการซื้อพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นโดยไม่จำกัดวงเงิน
เพื่อให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปีอยู่ในระดับใกล้เคียง 0.00% ร่วมกับการเดินหน้าซื้อกองทุน ETF วงเงิน 12 ล้านล้านเยน
กองทรัสต์อสังหาริมทรัพย์ญี่ปุ่น (J-REITS) วงเงิน 180,000 ล้านเยน และตราสารหนี้เอกชน วงเงิน
15 ล้านล้านเยน
ทั้งนี้ BOJ’s MPC มองว่า เศรษฐกิจญี่ปุ่นเริ่มฟื้นตัวได้อย่างช้าๆ
แต่ก็ยังถือว่าอยู่ในระดับสาหัส (Severe Situation) การส่งออกและผลผลิตอุตสาหกรรมเริ่มฟื้นตัว
แต่กำไรของภาคเอกชนและบรรยากาศในการดำเนินธุรกิจยังคงถดถอย
ไทย (คณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง.) : ในการประชุมวันที่
23 ก.ย. 63 มีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0.50% ซึ่งถือเป็นระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์
พร้อมกับประเมินว่าอุปสงค์ในประเทศปรับตัวดีขึ้นบ้าง แต่ตลาดแรงงาน การจ้างงาน
และรายได้ ยังต้องใช้เวลาฟื้นตัวอีกนาน
ซึ่งจะกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ครัวเรือน
โดยน่าจะใช้เวลาไม่ต่ำกว่าสองปีกว่าภาวะเศรษฐกิจจะกลับสู่ระดับก่อนการแพร่ระบาดของ
COVID-19
อย่างไรก็ดี กนง.ประเมินว่า GDP
ไทยตลอดปี 2563
จะหดตัวน้อยกว่าที่คาดการณ์ครั้งก่อน จาก -8.1% ณ เดือน มิ.ย. 63 มาเป็น -7.8% ณ เดือน ก.ย. 63
พร้อมกับคาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะติดลบน้อยลงกว่าประมาณการณ์เดิมด้วยเช่นกัน
ที่มา : bot.or.th, federalreserve.gov, ecb.europa.eu, boj.or.jp
โดยสรุป
ปัจจัยผลการเลือกตั้งสหรัฐฯ หากไบเด็นชนะตามผลหยั่งเสียงล่าสุด เศรษฐกิจสหรัฐฯ น่าจะฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป
ในอัตราที่ช้ากว่าแต่สุ่มเสี่ยงน้อยกว่ากรณีทรัมป์ได้รับเลือกอีกสมัย
รวมถึงธุรกิจสีเขียวจะได้รับการสนับสนุนมากขึ้น
และความตึงเครียดด้านการค้ากับจีนจะลดลงมาอยู่ในกรอบการเจรจาขององค์การระหว่างประเทศ
ปัจจัยความคืบหน้าในการค้นคว้าวัคซีน
COVID-19 มีความหวังว่าต้นปี
2564 อาจมีการแจกจ่ายวัคซีนที่ได้อนุมัติตามขั้นตอนมาตรฐานแล้วและหากพัฒนาการมีความชัดเจนขึ้นอย่างมีนัยสำคัญภายในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้
ก็จะส่งผลบวกอย่างมากต่อบรรยากาศการลงทุนโดยรวม
ส่วนปัจจัยแนวนโยบายธนาคารกลาง พบว่า มีความสอดคล้องกันด้านความพยายามรักษาอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ในระดับต่ำมากหรือระดับติดลบ ต่อเนื่องไปจนถึงปี 2564 พร้อมกับยืนยันเดินหน้าเติมสภาพคล่องปริมาณมหาศาล ให้กับระบบการเงินผ่านมาตรการ QE โดยมีมุมมองเป็นลบน้อยลงต่อภาวะเศรษฐกิจเต็มปี 2563
แนวทางจัดแผนลงทุน
แม้ยังมีความเสี่ยงของการระบาดซ้ำ
และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่อาจช้ากว่าคาด
แต่ก็เห็นปัจจัยบวกจากความคืบหน้าของการพัฒนาวัคซีน และมาตรการของธนาคารกลางรายสำคัญของโลกที่เอื้อต่อตลาดการเงิน
นักลงทุนที่รับระดับความเสี่ยงได้จำกัด
แนะนำแผนความเสี่ยงระดับความเสี่ยงต่ำถึงปานกลาง โดย 55% ของมูลค่าเงินลงทุน เป็นกองทุนตราสารหนี้ระยะสั้น เพื่อลดความเสี่ยงจากความผันผวนในภาวะที่อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำ และคาดว่าจะต่ำต่อไปอีกหลายไตรมาส
ส่วนอีก 25% ลงทุนในกองทุนด้านอสังหาริมทรัพย์และโครงสร้างพื้นฐาน และสามารถกระจายการลงอีก 15% เพื่อเปิดรับโอกาสได้ผลตอบแทนสูงขึ้นจากกองทุนหุ้นไทย
ซึ่งอาจทดแทนด้วยกองทุนหุ้นต่างประเทศที่เน้นธุรกิจเทคโนโลยี และอีก 5% เป็นกองทุนสินค้าโภคภัณฑ์
โดยสามารถคาดหวังผลตอบแทน ซึ่งอิงจากข้อมูลจริงในอดีต ได้ในระดับประมาณ 4% ต่อปี
นักลงทุนที่รับระดับความเสี่ยงได้ในระดับสูง
แนะนำแผนความเสี่ยงระดับปานกลางค่อนข้างสูง โดย 50% เปิดรับโอกาสได้ผลตอบแทนสูงขึ้นจากกองทุนหุ้นไทย
หรืออาจทดแทนด้วยกองทุนหุ้นต่างประเทศ เพื่อตอบรับมุมมองธนาคารกลางหลักของโลก ที่ปรับประมาณการเศรษฐกิจแย่น้อยลงกว่าเดิมอีก
20% เป็นกองทุนตราสารหนี้ระยะสั้นและอีก
20% เป็นกองทุนด้านอสังหาริมทรัพย์และโครงสร้างพื้นฐาน ส่วน 10% สุดท้ายสามารถลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์ ซึ่งสามารถคาดหวังผลตอบแทนซึ่งอิงจากข้อมูลจริงในอดีต
ได้ในระดับ 5-6% ต่อปี
รวบรวมข้อมูลโดย รวีโรจน์ เจียมศิริกาญจน์ และ นิติกร สุทธิมูล ผู้แนะนำการลงทุนรับอนุญาต บลป.เทรเชอริสต์