ตลาดหุ้นไทยยังน่าลงทุนอยู่ไหม ควรจัดแผนลงทุนกองทุนรวมอย่างไรดี

ในบทความเดือนพฤษภาคม 2563
ได้นำเสนอตัวเลขประมาณการเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยไปครั้งหนึ่งแล้ว
ซึ่งส่วนใหญ่เป็นข้อมูล ณ เมษายน 2563 แต่ปัจจุบันซึ่งย่างเข้าครึ่งปีหลัง
และข้อมูลเศรษฐกิจจริงช่วงไตรมาส 1/2563 ของเขตเศรษฐกิจต่างๆ
ก็ทยอยเปิดตัวออกมาแล้ว จึงเป็นช่วงเวลาที่น่าสนใจในการอัปเดตอีกครั้ง
ว่าสำนักเศรษฐกิจต่างๆ มีมุมมองต่อเศรษฐกิจรอบโลกเปลี่ยนไปจากเดิมหรือไม่
และมากน้อยแค่ไหน
เหลียวหลังดูตัวเลข GDP ไตรมาสล่าสุด
แต่ก่อนจะเข้าสู่ส่วนของข้อมูลประมาณการเศรษฐกิจฉบับอัปเดต
ขอนำเสนอตัวเลขเศรษฐกิจจริงของเขตเศรษฐกิจที่สำคัญรอบโลก
ด้วยตัวเลขล่าสุดให้เป็นฐานข้อมูลไว้ก่อน ดังนี้
สหรัฐอเมริกา
เขตเศรษฐกิจที่ใหญ่สุดของโลก ข้อมูลไตรมาสล่าสุดคือ 1/2563 เติบโต 0.3%
เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน (YoY) ซึ่งคือ
1/2562 นับเป็นตัวเลขเศรษฐกิจที่แย่สุดในรอบ 10 ปีเศษ
นับตั้งแต่วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ ขณะที่ตัวเลขเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (QoQ) ซึ่งคือ
4/2562 หดตัว 5%
จีน ไตรมาสล่าสุด
2/2563 เติบโต 3.2% (YoY) นับเป็นการเติบโตต่ำสุดในรอบเกือบ 30 ปี
แต่ก็เป็นการฟื้นตัวที่รวดเร็วจากไตรมาส 1/2563 ที่ติดลบ 6.8% ส่วนตัวเลข QoQ
ณ
ไตรมาส 2/2563 ขยายตัว 11.5% หลังจากที่ไตรมาส 1/2563 ติดลบไปถึง 10.0%
ยูโรโซน
ไตรมาสล่าสุด 1/2563 ติดลบ 3.1% YoY และ ติดลบ 3.6% QoQ นับเป็นการติดลบรุนแรงที่สุดในรอบ
10 ปีเศษ
ญี่ปุ่น ไตรมาสล่าสุด 1/2563 ติดลบ 1.7% YoY และติดลบ 0.6% QoQ โดยที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นซบเซามาก่อนหน้าสถานการณ์ COVID-19 โดยจะเห็นจากตัวเลขในไตรมาส 4/2562 ที่ก็ติดลบอยู่แล้วเช่นกัน
อินเดีย ไตรมาสล่าสุดเท่าที่มีการเผยแพร่ข้อมูลคือ ณ 4/2562 บวก 3.1% YoY เป็นการเติบโตที่ต่ำสุดในรอบเกือบ 30 ปีและบวก 1.1% QoQ
บราซิล
ไตรมาสล่าสุด 1/2563 ติดลบ 0.3% YoY เป็นการติดลบรุนแรงสุดในรอบ 3 ปี และติดลบ 1.5%
QoQ โดยที่ภาวะเศรษฐกิจบราซิลช่วงก่อนหน้าก็มีการเติบโตต่ำและเพิ่งพ้นจากเศรษฐกิจถดถอยเมื่อต้นปี
2560 มานี้เอง
ประเทศไทย
ไตรมาสล่าสุด 1/2563 ติดลบ 1.8% YoY และติดลบ 2.2% QoQ เป็นภาวะที่ชะลอตัวรุนแรงสุดในรอบระยะเวลาประมาณ
8 ปี
แลหน้าดูประมาณการ GDP
กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดการณ์ ณ มิถุนายน 2563 ว่า
เศรษฐกิจทั่วโลกจะหดตัว 4.9% ในปี 2563 เป็นการให้มุมมองแย่ลงกว่าเมื่อเมษายน 2563
ที่ประเมินว่าจะหดตัว 3.0% ส่วนมุมมองสำหรับปี 2564 ล่าสุดคาดว่าจะกลับมาขยายตัว
5.4% ลดลงจากมุมมองครั้งก่อนที่คาดว่าจะขยายตัว 5.8%
ในด้านประเทศพัฒนาแล้ว คาดการณ์ว่าปีนี้จะหดตัวถึง 8.0%
จากเดิมที่มองว่าจะหดตัวเพียง 6.1% แต่คาดการณ์ว่าปีหน้าจะกลับมาขยายตัว 4.8%
ซึ่งดีกว่าประมาณการณ์เดิมที่มองว่าจะขยายตัว 4.5%
ส่วนตลาดเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนา IMF คาดการณ์ล่าสุดว่าปี
2563 นี้ จะหดตัว 3.0% จากเดิมที่มองว่าจะหดตัวเพียง 1.0% และคาดการณ์ว่าปี 2564
จะกลับมาขยายตัว 5.9% ลดลงจากเดิมที่มองว่าจะกลับมาขยายตัวได้ถึง 6.6%
โดยหากมองเฉพาะประเทศไทย IMF คาดการณ์ว่า ปี 2563 เศรษฐกิจจะหดตัวถึง 7.7% และจะกลับมาขยายตัว 5.0% ซึ่งเป็นมุมมองที่แย่ลงกว่าการประเมินครั้งก่อน ทั้งสำหรับปีนี้และปีหน้า และจะสังเกตได้ว่า IMF ประเมินประเทศไทยว่า ปีนี้จะชะลอตัวลงแรงกว่าและปีหน้าจะฟื้นตัวได้ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มตลาดเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนา
ในเดือนกรกฎาคม
2563 โดยอาศัยข้อมูล ณ มิถุนายน 2563 ธนาคารแห่งประเทศไทย
ได้เผยแพร่ประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2563 ว่าน่าจะหดตัวถึง 8.1% แย่ลงจากมุมมอง ณ
เมษายน 2563 ที่คาดว่าจะหดตัว 5.3%อย่างไรก็ดี คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจปี 2564
จะกลับมาขยายตัว 5.0% ดีขึ้นกว่าเดิมที่คาดว่าจะขยายตัว 3.0%
โดยสรุปจะเห็นว่า ทั้งองค์กรทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศและธนาคารกลางของไทยเอง ต่างก็มีมุมมองล่าสุดต่อภาวะเศรษฐกิจไทยที่แย่ลงกว่าเดิม และแย่กว่าค่าเฉลี่ยของประเทศในกลุ่มเดียวกัน
เหลียวหลังดูผลตอบแทนการลงทุนในตลาดหุ้นประเทศต่างๆ
ข้อมูลข้างต้นได้ช่วยให้เห็นภาพจริงเท่าที่เกิดขึ้นแล้วในปีนี้ รวมไปถึงมุมมองจนถึงปลายปีและต่อเนื่องถึงปีหน้า และเมื่อพิจารณาจากมุมมองการลงทุนในตลาดหุ้นที่ย้อนเวลาไปนานขึ้น ก็เห็นแนวโน้มที่สอดคล้องกัน
(ที่มา : investing.com/indices/major-indices ณ วันที่ 24 กรกฎาคม 2563 เวลา 17.30 น.)
ซึ่งจะเห็นว่าดัชนีหุ้นไทยให้ผลตอบแทนติดลบมากสุดทั้งในกรอบเวลาปีนี้ หนึ่งปีที่ผ่านมา และสามปีที่ผ่านมา
แลหน้าตลาดหุ้นไทยยังน่าลงทุนอยู่ไหม
ตัวเลขของทั้ง IMF และธนาคารแห่งประเทศไทย ยังมีมุมมองว่าเศรษฐกิจไทยจะกลับมาฟื้นตัวได้ในปี
2564 โดยเฉพาะธนาคารแห่งประเทศไทยที่ปรับเพิ่มประมาณการปี 2564
จากที่คาดว่าจะขยายตัว 3.0% กลับเพิ่มเป็น 5.0% ก็ถือว่าตลาดหุ้นไทยยังมีโอกาสให้ลงทุนได้ในระยะกลางถึงระยะยาว
แต่อาจจะต้องพิจารณาการกระจายเงินลงทุนในสัดส่วนที่มีนัยสำคัญออกไปยังตลาดหุ้นต่างประเทศมากขึ้น
โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วซึ่ง IMF มีมุมมองเป็นบวกมากขึ้นต่อภาวะเศรษฐกิจปี 2564 และโดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีที่สะท้อนให้เห็นจากดัชนี NASDAQ ที่ให้ผลตอบแทนสูงมากทั้งในช่วงปีนี้ หนึ่งปีที่ผ่านมา และสามปีล่าสุด ซึ่งน่าจะได้อานิสงส์อย่างมีนัยสำคัญจากการเปิดรับเทคโนโลยีออนไลน์ที่เพิ่มขึ้นอย่างฉับพลันทั่วโลกจากสถานการณ์ COVID-19
แนวทางจัดแผนลงทุน
ยังคงแนะนำให้จัดสรรแผนลงทุนในระดับความเสี่ยงปานกลาง
เน้นกองทุนตราสารหนี้ระยะสั้นและ Money Market
ในสัดส่วน 40% มีกองทุนหุ้นไทยไม่เกิน 30%
ซึ่งอาจทดแทนถึงครึ่งหนึ่งด้วยกองทุนหุ้นต่างประเทศโดยเฉพาะกลุ่มเทคโนโลยีที่เติบโตอย่างแข็งแกร่งในช่วงที่ผ่านมา
นอกจากนั้นยังสามารถกระจายการลงทุนไปในกองทุนด้านอสังหาริมทรัพย์และโครงสร้างพื้นฐาน
25% และกองทุนสินค้าโภคภัณฑ์ประเภททองคำ 5% ซึ่งสามารถคาดหวังผลตอบแทนซึ่งอิงจากข้อมูลจริงในอดีต
ได้ในระดับ 5.0-5.5% ต่อปี
รวบรวมข้อมูลโดย
• รวีโรจน์ เจียมศิริกาญจน์ผู้แนะนำการลงทุนรับอนุญาต บลป.เทรเชอริสต์
• นิติกร สุทธิมูล ผู้แนะนำการลงทุนรับอนุญาต บลป.เทรเชอริสต์