สำนักงานธุรกิจครอบครัว : Family Office เหมาะสมเพียงใดกับประเทศไทย

ผู้อ่านที่สนใจเรื่องธุรกิจครอบครัวคงเคยได้ยินคำว่า
"สำนักงานธุรกิจครอบครัว" หรือ "Family Office (FO)" ในต่างประเทศมาพอสมควร เพราะ FO ในต่างประเทศนั้นมีมานานแล้ว โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกาที่มีมหาเศรษฐีที่มีเงิน
หรือสินทรัพย์มีมูลค่าสูงที่เรียกว่า "Ultra High Net Worth (UHNW)" จำนวนมาก โดยหลักเกณฑ์เดิมดูว่าแต่ละคนมีเงินฝากอย่างน้อย
1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ถือว่าเป็นเศรษฐี High Net Worth (HNW) คนกลุ่มนี้ไม่มีความจำเป็นต้องตั้ง FO
แต่จากการวิจัยเมื่อช่วงปี
2012-2017 พบว่า ในโลกนี้มีมหาเศรษฐี UHNW อยู่อย่างน้อย
10 ล้านคน และจากข้อมูลของ Wealth
World Ultra Department พบว่ามหาเศรษฐีกว่า 89,000
คน ในโลกนี้มีความมั่งคั่งระหว่าง 30-49
ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อคน ซึ่งคนกลุ่มนี้เป็นคนที่ต้องพิจารณาว่าควรมี FO
หรือไม่ และจากการวิจัยของ FO 34 แห่งในสหรัฐอเมริกาพบว่า มหาเศรษฐีเหล่านี้มีทรัพย์สินที่ต้องบริหารจัดการด้วย
FO มีตั้งแต่ 42 ล้านดอลลาร์สหรัฐถึง 1.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
สำหรับประเทศไทยมหาเศรษฐีที่มีความมั่งคั่งเป็นพันล้านบาท อาจมีจำนวนไม่มากแต่หากมีมูลค่ารวมกันของสมาชิกธุรกิจครอบครัวหลายคนในครอบครัวรวมกันเกินพันล้านบาท อาจมีหลายครอบครัว เจ้าของธุรกิจครอบครัวไทยจึงควรพิจารณาเรื่องการจัดตั้ง FO แต่กระนั้นก็ตาม เศรษฐีเมืองไทยอาจมีน้อยที่จะมีการแยก FO ออกจากธุรกิจครอบครัวเพราะส่วนใหญ่มักจะใช้บริษัทโฮลดิ้งหรือกงสีของครอบครัวหรือบริษัทประกอบการหลักของครอบครัวเป็นผู้มีหน้าที่จัดการบริหารทรัพย์สินมากกว่า
ความหมาย
สำนักงานธุรกิจครอบครัว (FO) คือ หน่วยงานที่บริหารจัดการและดูแลกิจการ การบริหารความมั่งคั่งหรือสินทรัพย์ของเจ้าของธุรกิจครอบครัว สมาชิกในครอบครัวของธุรกิจครอบครัว รวมทั้งการจัดโครงสร้าง ภาษี การถ่ายโอนความมั่งคั่ง การปฏิบัติการให้เป็นไปตามกฎหมาย การศึกษาของสมาชิกในครอบครัว การสื่อสาร การให้ความรู้ทางการเงิน ภาษีมรดก การบัญชี ทั้งของกิจการและของส่วนตัวของสมาชิกในครอบครัวทุกคน
หน้าที่
สำนักงานธุรกิจครอบครัวจะต้องทำหน้าที่ให้มีการสืบทอดทางธุรกิจของครอบครัว การสืบทอดความมั่งคั่ง ความมั่นคงทางการเงิน การสืบทอดทางธุรกิจของสมาชิกในครอบครัวและการสืบทอดงานสาธารณกุศล รวมทั้ง FO จะมีบทบาทเข้าใจอย่างลุ่มลึกในเรื่องการวางแผน การส่งมอบจากรุ่นสู่รุ่นและดูแลภาระภาษีของการบริหารความมั่งคั่งของสมาชิกในครอบครัว
บทบาทของสำนักงานธุรกิจครอบครัว
สำนักงานธุรกิจครอบครัว (FO) มีบทบาทหลัก 3 หลัก คือ
1.เป็นผู้รักษาและดำเนินการ
(the Keeper and the
Executor) ธุรกิจของครอบครัวและเอกสารทางกฎหมาย
เช่น กระบวนการขออนุมัติ ผลกระทบทางกฎหมายภาษี การปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมาย
เก็บรักษาข้อมูลทางการเงิน บัญชี ภาษี
2.เป็นผู้พิทักษ์
(the Guardian) และผู้ให้ความมั่นใจ (the Confidant)
ในการป้องกันความเสี่ยงของธุรกิจของครอบครัวในการทำธุรกิจ รวมทั้งเรื่องส่วนตัวที่อาจมีผลกระทบต่อความมั่งคั่ง
ชื่อเสียงของธุรกิจครอบครัว ความเสี่ยงดังกล่าวอาจเกิดจากการขาดวิสัยทัศน์สำหรับอนาคต
การขาดกระบวนการการตัดสินใจที่มีประสิทธิภาพ การขาดกระบวนการสื่อสารอย่างโปร่งใส
ความไม่เหมาะสมของการจัดสรรความเป็นเจ้าของ การขาดการจัดการกระจายการลงทุน
ขาดการให้ความสนใจในความเสี่ยงสำคัญของธุรกิจครอบครัว
ซึ่งคนที่จะทำหน้าที่ 2 บทบาทนี้ได้ อาจจะต้องเป็นมืออาชีพ
เช่น นักกฎหมาย สำนักบัญชี นักการเงิน นักบริหารธุรกิจ
ร่วมกับสมาชิกในครอบครัวที่มีความสามารถในด้านดังกล่าว
3.เป็นมันสมองให้ความเชื่อมั่น
(the Brain Trust) เป็นที่รวบรวมข้อมูลและให้ความคิดเห็นต่างๆ
แก่สมาชิกในครอบครัว เพื่อให้สมาชิกในครอบครัวสามารถช่วยปลูกฝังแนวความคิดและสร้างงานใหม่ๆ
กระตุ้นให้สมาชิกในครอบครัวมี
ความรักในงานและความสนใจในธุรกิจให้กับสมาชิกในครอบครัว ซึ่งคนที่จะทำบทบาทนี้ได้
ก็ควรจะเป็นสมาชิกในครอบครัวที่มีประสบการณ์ในการบริหารธุรกิจครอบครัวจนประสบความสำเร็จ
รวมถึงกรรมการมืออาชีพที่ช่วยบริหารจัดการธุรกิจครอบครัวนั้นให้ประสบความสำเร็จได้
โดยปกติธุรกิจครอบครัวของไทยมักจะใช้บริษัทโฮลดิ้ง
หรือบริษัทประกอบการ ทำหน้าที่ให้กับเจ้าของกิจการและสมาชิกในครอบครัว และส่วนใหญ่เจ้าของธุรกิจครอบครัวไทยก็มักจะใช้ธนาคาร
หรือสถาบันการเงินที่มีการบริการบริหารความมั่งคั่ง หรือบุคคลธนกิจ (Private Wealth Management) ในการลงทุนในสินทรัพย์เพื่อสร้างผลตอบแทนระยะยาวให้กับครอบครัว
ทั้งสถาบันการเงินในประเทศและต่างประเทศ
สำนักงานธุรกิจครอบครัวโดยทั่วไปมี
2 รูปแบบ รูปแบบที่ 1 ให้คำปรึกษาและให้บริการกับธุรกิจครอบครัวใดครอบครัวหนึ่งโดยเฉพาะ หรือที่เรียกว่า
"Single Family Office
(SFO)" รูปแบบที่
2 ที่เรียกว่า "Multiple
Family Office (MFO)" ให้บริการและให้คำปรึกษาแก่ธุรกิจครอบครัวหลายๆ ครอบครัวพร้อมกันไป
เท่าที่ผมทราบ
ในประเทศไทยยังไม่มีสำนักงานธุรกิจครอบครัว (MFO) ที่ให้บริการแก่ครอบครัวหลายๆ
ครอบครัว อาจมีในธุรกิจครอบครัวใหญ่ไม่กี่ตระกูล
ไม่กี่ธุรกิจครอบครัวที่ให้บริการเฉพาะธุรกิจครอบครัวของตนเองเป็นเอกเทศแบบ SFO ทั้งนี้
รูปแบบของสำนักงานธุรกิจครอบครัวไทยมักจะเป็นรูปแบบของบริษัทโฮลดิ้ง หรือบริษัทประกอบการที่ให้บริการกับครอบครัวของตนเอง
ส่วนที่แยกเป็นบริษัทต่างหาก หรือสำนักงานธุรกิจครอบครัวต่างหากนั้น อาจจะมีแค่ไม่กี่ตระกูลใหญ่ๆ
ในประเทศไทยเท่านั้น
ตรงกันข้าม
ในประเทศสิงคโปร์ มีการให้บริการสำนักงานธุรกิจครอบครัวแบบ MFO ที่ ให้บริการกับธุรกิจครอบครัวหลายๆ ครอบครัว
เพราะขนาดของธุรกิจครอบครัวบางครอบครัวไม่ใหญ่พอที่จะมีสำนักงานธุรกิจครอบครัวของตนเอง (SFO) สำหรับประเทศไทยและเพื่อเป็นการประหยัดค่าใช้จ่ายได้
และมีกฎหมายที่เอื้ออำนวยให้มีความสะดวกในการจัดตั้ง และสิทธิประโยชน์ทางภาษี
สำนักงานธุรกิจครอบครัวในประเทศไทย
ส่วนใหญ่มักจะใช้บริษัทโฮลดิ้ง (Holding Company) หรือบริษัทประกอบการเป็นผู้ให้บริการให้คำปรึกษา ทั้งเรื่องธุรกิจและเรื่องครอบครัวอยู่ในกลุ่มเดียวกัน หน้าที่หลักของสำนักงานธุรกิจครอบครัวมี 6 อย่าง คือ
1.การให้คำปรึกษาและการลงทุนของสินทรัพย์ของบริษัท
เพื่อให้มีผลตอบแทนสูงสุดโดยอาจพิจารณาการลงทุนเองหรือผ่านสถาบันการเงินต่างๆ
ที่มีผลิตภัณฑ์ทางการเงินมาเสนอให้ธุรกิจและสมาชิกในครอบครัวตัดสินใจ
2.ให้บริการด้านภาษีแก่ธุรกิจครอบครัวและสมาชิกในครอบครัว
ไม่ว่าการวางแผนภาษี การยื่นเสียภาษี
3.ให้บริการด้านบริหารทั่วๆ ไป ไม่ว่าเรื่องการจัดการธุรกิจกิจหรือเรื่องส่วนตัวของสมาชิกในครอบครัว
4.วางแผนการสืบทอดธุรกิจและวางแผนภาษีมรดก และภาษีทรัพย์สินของเจ้าของธุรกิจและสมาชิกในครอบครัว
5.การให้บริการจัดการของครอบครัวในเรื่องส่วนตัวของสมาชิกในครอบครัว
เช่น การหาที่เรียนให้ลูกหลาน การเดินทางของสมาชิก
6.ให้คำแนะนำหรือให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการทำกิจการสาธารณกุศลของครอบครัว
นอกจากนี้ FO ยังควรเป็นผู้ประสานงานในการจัดทำเอกสารทางกฎหมายที่สำคัญของธุรกิจครอบครัว
ไม่ว่าจะเป็นพินัยกรรม การจัดทำธรรมนูญครอบครัว และเป็นตัวกลางประสานการสื่อสารของสมาชิกครอบครัวให้ประกอบธุรกิจได้อย่างราบรื่น
และหากมีข้อพิพาทก็จะเป็นหน่วยงานที่ประสานรอยร้าวโดยการเป็นตัวกลางในการขจัดข้อขัดแย้ง
โดยทั่วไป เหตุผลที่สมาชิกในครอบครัวสมควรจัดตั้งสำนักงานธุรกิจครอบครัว
ก็เพราะว่าอาจจะมีความจำเป็นที่จะต้องรวมการบริหารจัดการความมั่งคั่ง หรือทรัพย์สินของธุรกิจครอบครัวไว้ที่เดียวกัน
แยกจากการบริหารธุรกิจเนื่องจากความแตกต่างของการตัดสินใจในการประกอบธุรกิจ กับการตัดสินใจของการลงทุนของครอบครัวมีความแตกต่างกัน
และผลประโยชน์อาจขัดแย้งกันได้
นอกจากนี้ ธุรกิจครอบครัวมีความจำเป็นจะต้องมีการกำกับดูแลกิจการเพื่อเพิ่มมูลค่าความมั่งคั่งของสมาชิกในครอบครัว
และเตรียมการในการโอนความมั่งคั่งไปยังธุรกิจครอบครัวรุ่นต่อไป
ดังนั้น
ในการกำหนดบทบาทของสำนักงานธุรกิจครอบครัวจึงสำคัญที่ว่า สำนักงานธุรกิจครอบครัวนี้จะทำเองทั้งหมดหรือบริหารจัดการเองบางส่วน
และบางส่วนอาจจ้างบุคลากรภายนอกหรือที่ปรึกษาภายนอกที่มีความรู้ความสามารถให้บริหารจัดการทำงานให้กับธุรกิจครอบครัว
สำหรับเจ้าของธุรกิจครอบครัว
หากท่านจะพิจารณาจัดตั้ง SFO ไม่ว่าจะในรูป FO แบบแยก หรือใช้บริษัทโฮลดิ้ง หรือบริษัทประกอบการต่างหาก ควรมีข้อพิจารณาดังนี้
1.จำนวนสมาชิกในครอบครัว มีจำนวนมากพอที่ควรแยกหรือไม่
2.มูลค่าของสินทรัพย์ของสมาชิก คุ้มค่ากับค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการ
เทียบกับค่าใช้จ่ายกับผลตอบแทนคุ้มค่าหรือไม่
3.บทบาทในการประสานงานหรือว่าจ้างกับบรรดาที่ปรึกษาต่างๆ เช่น ผู้ทำบัญชี
ที่ปรึกษากฎหมาย ที่ปรึกษากองทุน ธนาคาร ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ
อนาคต MFO ในประเทศไทยคงจะต้องใช้เวลาอีกนานที่จะพัฒนาต่อไปเพราะปัจจุบันธนาคารต่างๆ
มักจะมีบริการให้กับลูกค้า Private
Banking
ให้แก่เศรษฐี (HNW) และมหาเศรษฐี (UHNW) ด้านการลงทุนอยู่แล้ว โดยสถาบันการเงินก็ไม่สามารถให้บริการครบวงจรในบทบาท FO ได้ นอกจากการประสานงานแนะนำจ้างที่ปรึกษาภายนอกเฉพาะด้านตามความต้องการของลูกค้าเท่านั้น
แต่ในอนาคตหากมี MFO สามารถให้บริการครบวงจรร่วมมือกับธนาคารให้บริการแก่ลูกค้ามหาเศรษฐี
(UNHW) ก็น่าจะเป็นธุรกิจใหม่ที่น่าสนใจที่จะรวมผู้เชี่ยวชาญแต่ละด้านเข้าด้วยกัน