การพัฒนากลยุทธ์องค์กร

ภารกิจที่ท้าทายสำหรับผู้นำองค์กร
คือการบริหารกิจการให้มีความสามารถในการทำกำไร และเติบโตได้อย่างยั่งยืน พร้อมทั้งสร้างมูลค่าเพิ่มให้ผู้ถือหุ้น
โดยสามารถรับมือกับปัจจัยแวดล้อมต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ไม่ว่าจะเป็นภาวะเศรษฐกิจ คู่แข่ง ลูกค้า และคู่ค้า ที่ล้อมรอบเราอยู่ย
ในองค์กรขนาดกลางและขนาดเล็ก มักไม่ค่อยให้ความสำคัญในเรื่องกลยุทธ์มากพอ ซึ่งเป็นเรื่องอันตราย เพราะสภาพแวดล้อมทุกวันนี้เปลี่ยนแปลงรวดเร็วมาก อาจจะมีปัจจัยบางอย่างนำความล้มเหลวมาให้โดยไม่รู้ตัว แท้จริงแล้ว การพัฒนากลยุทธ์ ไม่ได้ยากอย่างที่คิด เพียงแต่ต้องอาศัยภาวะผู้นำเชิงกลยุทธ์เท่านั้นเอง
ภาวะผู้นำเชิงกลยุทธ์ (Strategic
Leadership)
เป็นกระบวนการที่ช่วยผู้บริหารในการตัดสินใจว่า
องค์กรจะดำเนินการแข่งขันทางธุรกิจ และประสบความสำเร็จได้อย่างไร
โดยคำนึงถึงสภาพแวดล้อมทั้งภายในและภายนอก ซึ่งกระบวนการพัฒนากลยุทธ์ จะมีลำดับขั้นตอนที่สำคัญ
4 ขั้นคือ
1.วัตถุประสงค์เชิงกลยุทธ์ : ทำไมองค์กรจึงดำรงอยู่
2.การประเมินเชิงกลยุทธ์ : ปัจจุบัน องค์กรยืนอยู่ ณ จุดใด
3.การพัฒนาเชิงกลยุทธ์ : องค์กรต้องการไปที่ใด
4.การปฏิบัติการเชิงกลยุทธ์ : ทำอย่างไรให้กลยุทธ์เกิดขึ้น
ขั้นตอนแรก
ต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับวัตถุประสงค์ของกลยุทธ์ เพื่อกำหนด วิสัยทัศน์
และพันธกิจ ที่ชัดเจนในการดำเนินธุรกิจตั้งคำถามเพื่อเจียระไนวิสัยทัศน์ พันธกิจ
และค่านิยม ให้เหมาะสมกับลักษณะการประกอบธุรกิจในปัจจุบัน
ควรสื่อสารให้พนักงานเข้าใจว่า องค์กรมีคำประกาศวิสัยทัศน์ พันธกิจ และค่านิยมอย่างไร
เพื่อสร้างความร่วมมือและแรงจูงใจ
ขั้นตอนที่สอง
เป็นการประเมินตนเอง มีความสำคัญมาก เพราะก่อนจะเดินทางไปที่ใด เราจำเป็นต้องวิเคราะห์ปัจจุบันให้ถ่องแท้เสียก่อนว่า
ขณะนี้ยืนอยู่ ณ จุดใดขั้นตอนนี้เป็นกระบวนการของการจัดโครงสร้างข้อมูล เพื่อเอื้ออำนวยต่อการตัดสินใจในการนำองค์กรไปสู่ผลประกอบการที่ดี
ซึ่งจะต้องมีการวิเคราะห์ทั้งอดีต ปัจจุบัน และการคาดการณ์อนาคต โดยมีข้อมูลที่สำคัญ
เช่น ตัวชี้วัดทางการเงิน การบริการลูกค้า ความสามารถหลักต่างๆ นอกจากนี้ ยังมีการวิเคราะห์ถึงจุดแข็ง
จุดอ่อน โอกาส และอุปสรรคภัยคุกคาม เพื่อใช้ในการวางแผนกลยุทธ์ต่อไป
ขั้นตอนที่สาม
เป็นขั้นตอนการพัฒนาเป้าหมายเชิงกลยุทธ์ และกำหนดแผนที่กลยุทธ์โดยรวมหลังจากได้ทำความเข้าใจ
และได้ความรู้ที่ลึกซึ้งจากขั้นตอนแรกและขั้นตอนที่สองแล้ว เพื่อแสดงให้เห็นจุดที่ต้องการไปให้ถึงในอนาคต
ตัวอย่างการพัฒนากลยุทธ์ในการบริหารองค์กร มีแนวคิดเป็นกรอบใหญ่ๆ อยู่ 2
แนวทางคือ
ก
) การปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง (Continuous
Improvement) ได้แก่ การสร้างการเติบโตจากฐานที่มีอยู่
และเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานและเพิ่มผลผลิต
ข)
การเปลี่ยนแปลงเชิงปฏิรูป (Transformation) ได้แก่ การสร้างการเติบโตด้วยนวัตกรรมใหม่ๆ
และปรับกระบวนการปฏิบัติงานใหม่ๆ เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงในระยะยาว
ซึ่งทั้งสองแนวทางนี้
ต้องให้ครอบคลุมทั้งด้าน การสร้างรายได้ และการสร้างกำไร โดยสามารถกำหนดเป็นเป้าหมายเชิงกลยุทธ์ได้
4 กลุ่มคือ
เป้าหมายด้านการเจริญเติบโต (Growth)
วิเคราะห์ให้ชัดเจนว่า ธุรกิจเติบโตได้อย่างไร
เติบโตจากที่ใด วิธีใดที่จะตอบสนองตอบต่อสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกัน
หรือต่อการแข่งขันที่เข้มข้นมากขึ้นจากคู่แข่ง และพิจารณาโอกาสแห่งการขยายตัวของรายได้ เช่น ขยายสายผลิตภัณฑ์ ขยายตลาด เพิ่มส่วนแบ่งตลาด เพิ่มช่องทางการจัดจำหน่าย
หรือการเข้าไปซื้อ/ควบรวมกิจการอื่น
เป้าหมายด้านการเพิ่มประสิทธิภาพและผลผลิต
(Productivity)
เป็นเป้าประสงค์ที่เกี่ยวข้องกับการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง
ทั้งด้านกระบวนการ ขั้นตอน การสื่อสาร และความเชี่ยวชาญในด้านที่สำคัญๆ เพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขันให้ความสำคัญกับการปรับปรุงประสิทธิภาพที่จำเป็นต่อผลสำเร็จโดยรวมขององค์กรเพื่อเพิ่มอัตรากำไรสุทธิ
เป้าหมายด้านนวัตกรรม (Innovation)
มีความสำคัญต่อความสำเร็จในระยะยาวขององค์กร
เพราะรูปแบบธุรกิจที่มีอยู่ ณ ปัจจุบันอาจจะล้าสมัย
หรือเสี่ยงต่อความล้มเหลวถ้าไม่มีการปรับเปลี่ยนขนานใหญ่
เป้าหมายด้านนี้จะเป็นตัวกำหนดว่า องค์กรต้องปรับเปลี่ยนธุรกิจอย่างไร
เพื่อให้เติบโตและแข่งขันต่อไปได้ เพื่อความยั่งยืนขององค์กร
เรื่องนวัตกรรมเป็นเป้าหมายระยะยาว
ที่มาจากความคิดสร้างสรรค์และความปรารถนาที่จะไปให้ถึงยังที่แห่งใหม่
ทำให้เราได้ตระหนักถึงความเป็นไปได้และทางเลือกทั้งหมดสำหรับอนาคต เมื่อเวลาผ่านไป
เป้าหมายบางข้ออาจจะกลายเป็นเป้าหมายระยะสั้น บางข้ออาจจะถูกตัดออก เปลี่ยนแปลง
หรือขยายออกไป เพื่อปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมใหม่ๆ
เป้าหมายด้านการปรับกระบวนการดำเนินงาน (Re-engineering)
เป้าหมายด้านนี้ มุ่งเน้นที่โครงสร้างและกระบวนการดำเนินงานภายในองค์กร
โดยการปรับหรือเปลี่ยนแปลงวิธีทำงานที่มีสาระสำคัญ เช่น
การพัฒนาวิธีปฏิบัติงานมาตรฐาน ด้วยการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาใช้
เพื่อให้งานที่เป็นกิจวัตรประจำวัน มีประสิทธิภาพสูงและต้นทุนต่ำ
หรือการปรับโครงสร้างการบริหารให้มีความกระชับและยืดหยุ่นมากขึ้น
ขั้นตอนที่สี่ เป็นการการนำกลยุทธ์ที่กำหนดไว้แล้วไปสู่การปฏิบัติให้เกิดผลลัพธ์ที่ต้องการ ซึ่งต้องอาศัยการสร้างหรือปรับปรุงระบบบริหารที่เหมาะสมมารองรับ รวมทั้งการกำหนดกลยุทธ์ด้านบุคลากรให้สอดคล้องกันเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน เช่น ระบบการวัดผลงานและการให้ผลตอบแทน เป็นต้น
อุปสรรคต่อความสำเร็จของกลยุทธ์ มักจะมีสาเหตุมาจากการความไม่มีประสิทธิภาพของผู้บริหารในด้านภาวะผู้นำ
เช่น ขาดความมุ่งมั่นที่จะนำองค์กรไปสู่การเปลี่ยนแปลง หรือมีทักษะการเป็นผู้นำที่ไม่ดีพอที่จะสร้างความร่วมมือจากบุคลากรทั่วทั้งองค์กร
แนวทางคร่าวๆ ดังกล่าว
จะช่วยให้ผู้บริหารสามารถพัฒนากลยุทธ์ที่เหมาะสมกับองค์กรตนเองได้
การลงมือปฏิบัติจริงจะนำไปสู่ความรู้และทักษะที่ชำนาญมากขึ้นเรื่อยๆ