การจูงใจในตนเอง...เกิดขึ้นได้อย่างไร

การจูงใจมี 2 ประเภทคือ การจูงใจในตนเอง และการจูงใจจากภายนอก แต่พลังของการจูงใจในตนเอง เป็นแรงขับที่ทรงพลังที่สุดของมนุษย์
ฉะนั้น การทำความเข้าใจทางจิตวิทยาเกี่ยวกับการจูงใจ จึงมีประโยชน์อย่างมากสำหรับผู้บริหาร
มนุษย์ถูกจูงใจด้วยสิ่งที่เขาต้องการ ไม่ใช่สิ่งที่เขามี ซึ่งเป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่จะไม่พอใจกับการอยู่ในสภาวะเดิมๆ ฉะนั้น ด้วยลำพังปัจจัยภายนอกอย่างเดียวจึงไม่สามารถสร้างแรงจูงใจได้อย่างถาวร คนเราต่างก็ถูกขับเคลื่อนให้กระทำการบางสิ่งบางอย่างด้วยพลังจากภายในที่เรียกว่า ความปรารถนา (Desires) ซึ่งแตกต่างกับความจำเป็นเพื่อการอยู่รอด (Needs) เมื่อเราปรารถนาต่อสิ่งใดอย่างแรงกล้า เราจะมีความเพียรพยายามที่จะแสวงหาสิ่งนั้น และทำให้ทุกอย่างเป็นไปได้
ความปรารถนา 8 อย่าง ที่มีอยู่ในมนุษย์ทุกๆ คน
1. ความปรารถนาที่จะมีกิจกรรม มนุษย์มีธรรมชาติที่ไวต่อแรงกระตุ้น
ชอบความกระฉับกระเฉง สนุกสนานในการใช้ชีวิต ไม่ชอบความซ้ำซากจำเจน่าเบื่อหน่าย ฉะนั้น องค์กรควรจะจัดสภาพแวดล้อมในที่ทำงาน ให้มีกิจกรรมที่กระตุ้นความกระตือรือร้น
หรือสร้างความรู้สึกตื่นเต้นท้าทายทั้งกายและใจ มีเป้าหมายใหม่ๆ ที่เชิญชวนให้พนักงานมีส่วนร่วม และอย่าลืมเพิ่มความสนุกและหลากหลายเข้าไปด้วย
2. ความปรารถนาที่จะเป็นเจ้าของ ในสังคมยุคนี้
การเป็นเจ้าของสิ่งต่างๆ กลายเป็นเครื่องวัดความมีคุณค่าของตนเอง ซึ่งไม่ได้จำกัดอยู่แค่สิ่งที่เป็นเงินทองหรือวัตถุ
ความเป็นเจ้าของทางจิตใจอาจจะมีความสำคัญยิ่งกว่า
ฉะนั้น ควรให้โอกาสพนักงานได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับกิจกรรมขององค์กรอย่างสม่ำเสมอ
รับรู้คุณค่าของทักษะและประสบการณ์ของพนักงานแต่ละคน เช่น
ให้แสดงความคิดเห็นว่าจะปรับปรุงการทำงานได้อย่างไร ให้โอกาสเลือกตัดสินใจด้วยตนเองมากขึ้น
และเมื่อองค์กรประสบความสำเร็จก็ประกาศให้พนักงานรับรู้ว่าผลงานของพวกเขามีความสำคัญเพียงไร
3. ความปรารถนาที่จะมีอำนาจ จริงๆ แล้วผู้คนต้องการมีทางเลือก ต้องการที่จะควบคุมชะตาชีวิตตัวเอง
ปัจจุบัน พนักงานต้องการความอิสระในการตัดสินใจมากกว่าการทำตามคำสั่ง ฉะนั้น
บริษัทจึงควรจะสร้างสรรค์สภาพแวดล้อมให้มีการมอบอำนาจแก่พนักงานมากขึ้น ให้พวกเขารับผิดชอบงานของตนเองให้ได้มากที่สุด
และเปิดโอกาสในการพัฒนาภาวะผู้นำของพนักงานทุกคน
4. ความปรารถนาในการมีส่วนร่วม มนุษย์ต้องการมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคม
และมีโอกาสได้แสดงอัตตลักษณ์ของตนเองต่อผู้อื่น เช่น
การทำงานเป็นกลุ่มเพื่อปรึกษาหารือ หรือทำภารกิจพิเศษร่วมกัน
การแลกเปลี่ยนความรู้พิเศษซึ่งกันและกัน การช่วยเหลือแก้ปัญหาความเดือดร้อนต่างๆ
เป็นต้น ฉะนั้น
องค์กรควรเปิดให้พนักงานได้มีโอกาสทำกิจกรรมทางสังคมประเภทนี้อย่างหลากหลาย และจัดให้มีการทำงานเป็นทีมเมื่อโอกาสเอื้ออำนวย
5. ความปรารถนาที่จะมีความสามารถ ความอยู่รอดของมนุษย์ขึ้นอยู่กับความสามารถในการดำรงชีวิต
คนที่รู้สึกว่าตัวเองเก่ง จะมีความภาคภูมิใจและนับถือตนเอง พนักงานจะรู้สึกว่าตนเองมีคุณค่า
ถ้าเขารู้ว่าจุดแข็งที่สั่งสมมาคืออะไร
และสามารถใช้จุดแข็งนั้นสร้างผลงานที่แตกต่างให้กับงานที่รับผิดชอบได้อย่างไร
องค์กรควรให้โอกาสพนักงานได้ใช้ความสามารถอย่างเต็มที่
และสนับสนุนการเรียนรู้ทักษะและความรู้ใหม่ๆ อยู่เสมอ นอกจากนั้น ก็ควรมีความอดทนต่อข้อผิดพลาดหรือความล้มเหลว
เพื่อกระตุ้นความท้าทายที่จะบรรลุเป้าหมายที่ยากขึ้น
6. ความปรารถนาต่อการบรรลุผลสำเร็จ ความสำเร็จอาจจะมีความหมายต่างๆกันสำหรับแต่ละคน
ภายใต้เงื่อนไขที่ดี คนเราจะสนุกสนานกับการทำงานหนักและเอาชนะอุปสรรคได้ การบรรลุผลสำเร็จ
ทำให้รู้สึกมีเกียรติและภูมิใจ จึงไม่โหยหารางวัลจากภายนอกอีก องค์กรควรส่งเสริมให้พนักงานรู้จักการตั้งเป้าหมายที่มีความสำคัญกับเขา
และจัดให้มีการวัดผลที่ชัดเจน เหมาะสม และไม่ให้เกิดความรู้สึกที่คุกคาม
แต่เน้นเพื่อการปรับปรุงพัฒนาให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง
7. ความปรารถนาที่จะได้รับการยอมรับ ทุกๆคนต้องการได้รับการชื่นชมซาบซึ้งจากคนอื่น
อยากได้การยอมรับในทางบวกต่อสิ่งที่เขาได้อุทิศให้ ซึ่งทำให้รู้สึกว่าตนเองมีความสำคัญ
การแสดงการรับรู้หรือยอมรับต่อพนักงาน เป็นการกระตุ้นพลังและผลผลิตได้มากที่สุด ซึ่งทำได้หลายอย่างมาก
ตั้งแต่การให้เงิน ให้ของขวัญ หรือแค่คำง่ายๆว่า ขอบคุณ นอกจากนี้
ทุกคนต้องการขวัญกำลังใจในการต่อสู้กับอุปสรรค ฉะนั้น การใช้คำพูดที่สร้างกำลังใจ ก็สำคัญๆ พอๆ กับการชื่นชม
8. ความปรารถนาที่จะมีความหมาย มนุษย์ต้องการความหมายมากกว่าแค่การอยู่รอดและความมั่งคั่ง ต้องการค้นหาสิ่งที่เขามีความเชื่อมั่นและยินดีจะทุ่มเทให้ ทุกๆ คนเกิดมาต้องการรู้สึกว่าชีวิตเขามีความสำคัญ และมีเหตุผลที่จะดำรงชีวิตอยู่ ต้องการรู้สึกว่าความพยายามของเขาสร้างความแตกต่างให้กับโลกอย่างไร ฉะนั้น พนักงานในทุกระดับควรจะเข้าใจอย่างชัดแจ้งว่า งานที่เขาทำมีผลต่อภาพรวมขององค์กรอย่างไร เขาเพิ่มคุณค่าให้สินค้าหรือบริการที่ส่งมอบให้ลูกค้าอย่างไร เพื่อจะได้ภาคภูมิใจในความสำคัญของตนเอง
แรงต้านต่อการจูงใจในตนเอง จะต้องทำให้หมดไปเสียก่อน
เพราะไม่มีรูปแบบการจูงใจใดๆจะทำให้สำเร็จได้ท่ามกลางปัจจัยทางลบต่างๆ ดังต่อไปนี้
การเมืองในองค์กร /ความคาดหวังที่ไม่ชัดเจน/กฎระเบียบที่ไม่จำเป็น/การออกแบบระบบทำงานไม่ดี/การประชุมที่ไม่มีประสิทธิภาพ/ขาดการติดตามงาน/การเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา/การแข่งขันภายใน/ความไม่ซื่อสัตย์/การเสแสร้ง/การเก็บงำข้อมูล/ความไม่ยุติธรรม/การตอบสนองที่ทำลายกำลังใจ/การวิพากษ์วิจารณ์/การใช้กำลังความสามารถไม่เต็มที่-การอดทนต่อผลงานที่แย่/ผลงานถูกมองข้าม/ผู้บริหารทำตัวห่างเหิน/ควบคุมมากเกินไป-การยกเลิกผลประโยชน์หรือสิทธิที่เคยได้/การถูกบังคับให้ทำงานที่คุณภาพต่ำ ฯลฯ
เมื่อผู้บริหารเข้าใจธรรมชาติของคนเกี่ยวกับปัจจัยที่สร้างแรงจูงใจในตนเอง
และปัจจัยที่ทำลายแรงจูงใจ ของคนที่ทำงานในองค์กร
ก็จะทำให้การบริหารบุคลากรในส่วนงานต่างๆ เกิดประสิทธิภาพมากขึ้น
ด้วยการเพิ่มสภาพแวดล้อมที่ดี และขจัดสภาพแวดล้อมที่เป็นอุปสรรค