DRUCKER สอนทายาทธุรกิจครอบครัว จัดการตนเอง

"คนเรานั้นสร้างผลงานจากจุดแข็งเท่านั้น…เราไม่สามารถสร้างผลงานจากจุดอ่อนทั้งหลายของเราได้”
- ปีเตอร์ เอฟ. ดรักเกอร์
ผมได้อ่านงานเขียนของโปรเฟสเซอร์ ปีเตอร์ เอฟ. ดรักเกอร์ เรื่อง Managing Oneself ที่ถูกแปลเป็นภาษาไทย โดย คุณภิญโญ ไตรสุริยธรรมา[1] เมื่อหลายปีก่อน และได้กลับมาอ่านอีกครั้งในปีนี้ก่อนจะนำเนื้อหาบางส่วนมาแชร์ให้กับกลุ่มทายาทธุรกิจครอบครัว ผมเห็นว่า เนื้อหาในเรื่องการบริหารจัดการตนเองนี้ จะช่วยให้เหล่าทายาทได้มีเครื่องมือในการทำงาน และสร้างผลงานได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะทายาทที่เพิ่งเข้ามาทำงานในธุรกิจครอบครัวซึ่งอยู่ในช่วงของการปรับตัว และสร้างความยอมรับในองค์กร
การ “รู้จักตนเอง” คือจุดเริ่มต้นของความสำเร็จในหน้าที่การงาน
สิ่งที่ ปีเตอร์ เอฟ. ดรักเกอร์ ปรมาจารย์ด้านการบริหารจัดการธุรกิจได้ฝากแนวคิดไว้ในเรื่องนี้คือการ
“รู้จักตนเอง” ใน 3 มิติ ได้แก่ (1) รู้วิธีทำงานของตนเอง (2) รู้จักจุดแข็งของตนเอง
และ (3) รู้สิ่งที่ตนเองให้คุณค่า ดรักเกอร์ กล่าวว่า การ “รู้จักตนเอง” คือจุดเริ่มต้นของการ “รู้ว่าจะจัดการตนเองอย่างไร” ซึ่งเมื่อรู้ว่าจะจัดการตนเองได้อย่างไรแล้ว
เราจึงมีโอกาสที่จะสร้างผลงาน และความสำเร็จต่อไปได้ ในทางกลับกัน
การไม่รู้จักตนเอง จะนำไปสู่การไม่รู้ว่าจะจัดการตนเองอย่างไร
ซึ่งจะนำไปสู่ความไร้ประสิทธิภาพในการทำงาน และความล้มเหลวในที่สุด
จริงๆ แล้วแนวคิดเรื่องการ “รู้จักตนเอง” ของ ดรักเกอร์ นั้น สามารถนำไปใช้กับใครก็ได้ที่ต้องการพัฒนาประสิทธิภาพการทำงานของตนให้ดีขึ้น เติมเต็มศักยภาพที่มี รวมไปถึงผู้ที่กำลังตัดสินใจเลือกเส้นทางการทำงาน หรืออาชีพ เพราะถ้ารู้จักตนเองดี รู้ว่าที่ทางของตนเองอยู่ที่ไหน เมื่อโอกาสมาเคาะประตูเรียกอยู่ตรงหน้า ก็จะรู้ได้ทันทีว่าควรจะตอบรับหรือปฏิเสธต่อโอกาสที่ผ่านเข้ามา
1. รู้วิธีทำงาน (ของตนเอง)
คนส่วนใหญ่คิดว่าพวกเขารู้วิธีทำงานของตนเองดี...ซึ่งไม่จริงเลย
คนเราต่างมีวิธีการทำงานที่แตกต่างกัน และไม่มีวิธีการทำงานของใครที่ดีที่สุด
การเลือกใช้วิธีทำงานที่ตนถนัดจะทำให้คุณสามารถสร้างผลงานออกมาได้ดีที่สุด และต่อไปนี้คือคำถาม
5 ข้อที่จะทำให้คุณรู้จักวิธีทำงานของตนเองได้ดียิ่งขึ้น
คำถามที่
(1) คุณเป็นนักอ่านหรือนักฟัง?
เช่น ถ้าคุณเป็น “นักอ่าน” คุณจะจับใจความจากการอ่านได้ดี
คุณสามารถเอาสิ่งที่อ่านมาอธิบายหรือเขียนบรรยายได้เป็นอย่างดี แต่ถ้าคุณเป็น
“นักฟัง” คุณจะสามารถจับใจความจากการฟังได้ดี
คุณเป็นคนที่พูดคุยตอบโต้กับผู้อื่นได้ดีโดยธรรมชาติ
บางคนถามผมว่าเป็นไปได้ไหมที่คนๆ หนึ่งจะเป็นได้ทั้งนักอ่านและนักฟังพร้อมๆ กัน
คำตอบคือเป็นไปได้ แต่ให้ลองสังเกตว่าอะไรที่เราทำได้ดีกว่า นั่นแหละคือวิธีการรับข้อมูลตามธรรมชาติของคุณ
การเรียนรู้ด้วยวิธีที่ตนเองถนัดจะทำให้คุณเรียนรู้ได้ไว และครบถ้วนกว่า
คำถามที่ (2) คุณเรียนรู้จากการพูดหรือการเขียน?
“นักพูด” จะเรียนรู้จากการพูด
และ “นักเขียน” จะเรียนรู้จากการเขียน
เช่น ย้อนกลับไปในตอนที่คุณยังเรียนหนังสืออยู่ ถ้าการอ่านหนังสือโดยเปล่งเสียงออกมาดังๆ
ทำให้คุณเข้าใจมากกว่าการอ่านในใจเงียบๆ หากเป็นเช่นนี้ คุณก็อาจจะเป็น “นักพูด” การได้พูดออกมาจะทำให้คุณเข้าใจเนื้อหามากขึ้นอีก
แต่ถ้าก่อนสอบคุณมักจะทำสรุปย่อ หรือชอบขีดเขียนลงในหนังสือ เพราะการทำเช่นนี้จะทำให้คุณเข้าใจเนื้อหาได้ดีขึ้น
หากเป็นเช่นนี้ คุณก็อาจจะเป็น “นักเขียน”
นักพูดเมื่อได้ยินเสียง (ตัวเอง) พูดจะเข้าใจมากขึ้น
ในขณะที่นักเขียนจะเข้าใจเนื้อหาได้ดีขึ้นเมื่อได้เขียนมันออกมา ดังนั้น
ถ้าต้องเข้าประชุมระดมสมอง นักพูดอาจเดินเข้าห้องประชุมตัวเปล่าได้ แต่นักเขียนจำเป็นจะต้องพกกระดาษปากกาเข้าห้องประชุมด้วย
เพราะนั่นจะทำให้คุณคิดได้ดีขึ้น
คำถามที่ (3) คุณทำงานกับคนได้ดีแค่ไหน?
“คุณทำงานกับผู้คนได้ดี
หรือจะดีกว่าถ้าทำงานคนเดียว?”
งานบางประเภทมีความสันโดษตามธรรมชาติ เช่น
งานฟรีแลนซ์ นักเขียน หรือศิลปิน แต่งานส่วนมากในโลกนี้
มักเป็นงานที่ต้องทำร่วมกับคนอื่นๆ แตกต่างกันเพียงว่าคุณและคนอื่นๆ มีปฏิสัมพันธ์กันในฐานะอะไร
เช่น เป็นหัวหน้า เป็นลูกน้อง เป็นเพื่อนร่วมงาน เป็นคู่ค้า เป็นต้น
หากโดยธรรมชาติคุณชอบที่จะทำงานคนเดียว การเป็นหัวหน้า
ก็น่าจะทำให้คุณรู้สึกดีกับงานนั้นๆ แต่ถ้าหากคุณไม่ชอบทำงานคนเดียว
การได้ทำงานกับคนอื่นๆ ไม่ว่าจะในฐานะเพื่อนร่วมงาน
หรือการเป็นลูกน้องก็น่าจะทำให้คุณรู้สึกดีกว่าทำงานคนเดียวเป็นไหนๆ
คำถามที่ (4) คุณชอบอยู่ในบทบาทใด?
สองบทบาทที่สำคัญในองค์กรคือ ผู้ตัดสินใจ (Decision
Maker) กับที่ปรึกษา (Advisor) คนที่ชอบตัดสินใจจะสามารถแบกรับความกดดันจากการตัดสินใจได้ดี
การได้ตัดสินใจทำให้รู้สึกดี โล่งใจที่ได้ตัดสินใจ
ในขณะที่ที่ปรึกษาจะรู้สึกถึงความกดดันอย่างมหาศาลเมื่อต้องตัดสินใจ
ที่ปรึกษามักสร้างทางเลือกต่างๆ ก่อนที่จะตัดสินใจเสมอ พวกเขาอยากจะแน่ใจว่าสิ่งที่จะเลือกนั้นเป็นสิ่งที่ดีที่สุด
แต่ถึงจะรู้มากและมีทางเลือกมากมาย พวกเขาก็ยังรู้สึกเครียดและกดดันอย่างมากอยู่ดี
คนชอบตัดสินใจแต่อยู่ในตำแหน่งที่ปรึกษาจะทำงานที่ปรึกษาได้ย่ำแย่
ในขณะที่ผู้ยิ่งใหญ่หลายคนทำงานได้ดีที่สุดในฐานะที่ปรึกษา แต่ไม่สามารถแบกรับภาระและแรงกดดันจากการตัดสินใจได้
พวกเขาจึงเป็นผู้นำที่แย่ แต่เป็นที่ปรึกษาที่เยี่ยม
คำถามที่ (5) คุณทำงานภายใต้ความกดดันได้ดีหรือไม่?
บางคนทำงานได้ดีในองค์กรขนาดใหญ่
บางคนทำงานได้ดีในองค์กรขนาดเล็ก
ความแตกต่างที่สำคัญคือ
องค์กรขนาดใหญ่มักมีลักษณะงานที่คาดเดาได้ มีแบบแผน ในขณะที่ องค์กรขนาดเล็กมักมีลักษณะงานที่คาดเดาไม่ได้แน่นอน
ไม่ค่อยมีแบบแผน เปลี่ยนแปลงตามสถานการณ์ ทายาทหลายคนที่เคยทำงานในองค์กรใหญ่มาก่อนและชอบความเป็นระบบระเบียบจึงมักจะอึดอัดเมื่อกลับเข้ามาทำงานในธุรกิจครอบครัวที่อาจจะไม่ค่อยมีแบบแผน
คาดเดาไม่ค่อยได้
แต่สำหรับคนอีกกลุ่ม
พวกเขามองสถานการณ์ที่ไม่ค่อยมีแบบแผน และคาดเดาได้ยากเช่นนี้เป็นความสนุก
เป็นความท้าทาย พวกเขาชอบที่จะเผชิญหน้ากับความไม่แน่นอน แล้วคุณล่ะ ชอบแบบไหน?
เมื่อตอบคำถามทั้ง
5 ข้อแล้ว ลองหาโอกาสเล่าให้คนใกล้ชิดฟัง โดยเฉพาะคนที่เคยทำงานร่วมกัน คุณอาจจะเข้าใจวิธีการทำงานของตนเองชัดยิ่งขึ้นไปอีก
“อย่าพยายามเปลี่ยนตัวเอง” คือคำแนะนำของ ดรักเกอร์ วิธีทำงานของแต่ละคนนั้นมีลักษณะเฉพาะตัว
อาจเกิดจากการเลี้ยงดู หรือประสบการณ์ที่ผ่านมา ถูกบ่มเพาะจนกลายเป็นนิสัยซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นก่อนที่เราจะเริ่มต้นชีวิตการทำงานด้วยซ้ำ
วิธีการทำงานของคนจึงอาจปรับเปลี่ยนได้บ้างเล็กน้อย
แต่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ทั้งหมด และไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะเปลี่ยน
เมื่อเป็นเช่นนี้ ดรักเกอร์ จึงแนะนำให้เราทำความเข้าใจวิธีการทำงานของตนเองให้ดี
และใช้ประโยชน์จากมัน มากกว่าที่จะเปลี่ยนแปลงวิธีทำงานของตนเอง
อีกอย่างที่ ดรักเกอร์ ฝากไว้คือ ในการสร้างผลงานนั้น เรามักจะต้องทำงานร่วมกับคนอื่นๆ เราจึงไม่ควรที่จะละเลยขนบธรรมเนียม และมารยาทของสังคมที่เราทำงานอยู่ด้วย ธรรมเนียมปฏิบัติง่ายๆ แต่จะช่วยคุณอย่างมากในการสร้างผลงาน เช่น การกล่าวคำขอบคุณ การให้เครดิตผู้ร่วมงาน การจดจำชื่อเสียงเรียงนาม หรือการไถ่ถามสารทุกข์สุกดิบ ฯลฯ ธรรมเนียมและมารยาทเหล่านี้ อาจเปลี่ยนความล้มเหลวให้กลายเป็นความสำเร็จได้
2. รู้จุดแข็ง (ของตนเอง)
การรู้จุดแข็ง
(Strength) ของตนเองอย่างชัดเจน ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญของการสร้างผลงานให้เป็นที่ประจักษ์
ดังเช่นที่ ดรักเกอร์ เคยกล่าวไว้ว่า “คนเรานั้นสร้างผลงานจากจุดแข็งเท่านั้น
เราไม่สามารถสร้างผลงานจากจุดอ่อนทั้งหลายของเราได้” มีคนมากมายที่มุ่งแก้ไขจุดอ่อนของตน
พวกเขาต้องการเปลี่ยนจุดอ่อนให้กลายเป็นจุดแข็ง
ซึ่ง ดรักเกอร์ เห็นว่า นั่นไม่ใช่วิธีที่ฉลาดเลย
พวกเขาจะไม่สามารถพัฒนาจุดอ่อนเหล่านั้นให้กลายเป็นจุดแข็งได้
ต่างจากการมุ่งพัฒนาจุดแข็งของตนเองเพื่อสร้างผลงาน
คนที่รู้จักจุดแข็งของตนเองจะสามารถพัฒนาจากจุดที่ดี (Good) ไปสู่จุดที่ดีเยี่ยม
(Great) ได้ง่ายกว่าการพัฒนาจากจุดอ่อนไปสู่จุดที่เรียกได้แค่ว่า
“ดี” แนวคิดนี้ของ ดรักเกอร์ สะท้อนหลักพื้นฐานทางเศรษฐศาสตร์ที่ว่าคนเราทุกคนต่างมีทรัพยากรอันจำกัด
(Limited Resources) และทรัพยากรที่สำคัญที่สุดของพวกเราทุกคนก็คือ
พลัง และเวลา
แล้วทำอย่างไรเราถึงจะรู้จุดแข็งของตนเองล่ะ?
คำตอบของคำถามนี้ ดรักเกอร์ แนะนำให้เราใช้เครื่องมือที่เรียกว่า Feedback
Analysis หรือการวิเคราะห์ทบทวนตนเอง ซึ่งการวิเคราะห์ทบทวนตนเองที่
ดรักเกอร์ แนะนำคือการวิเคราะห์หาช่องว่างระหว่างเป้าหมายที่วางไว้กับผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจริงจากการทำงาน
โดยอาจโฟกัสไปที่งานชิ้นสำคัญๆ ว่าเข้าเป้าหรือพลาดเป้าอย่างไรบ้าง
การวิเคราะห์ประสิทธิภาพและประสิทธิผลของงานจะทำให้เรามองเห็นจุดแข็ง (และจุดอ่อน)
ของเราได้ชัดเจนขึ้น จุดแข็งของเราคือสิ่งที่สร้างผลงานให้เรา
ในขณะที่จุดอ่อนไม่อาจสร้างผลงานให้เราได้
แต่การมีจุดแข็งไม่ได้หมายความว่า คุณจะไม่ต้องพัฒนาอะไรอีก
Feedback Analysis จะแสดงให้เห็นว่า คุณยังต้องปรับปรุงอะไรอีกเพื่อพัฒนาจุดแข็งให้ดียิ่งขึ้น
เช่น ความรู้ที่ยังขาด หรือทักษะที่ต้องปรับปรุงเพิ่มเติม เป็นต้น อย่างไรก็ดี
ดรักเกอร์ ได้เตือนสติพวกเราว่าเมื่อพัฒนาไปถึงจุดหนึ่งคุณอาจก้าวเข้าสู่วิถีของการทำลายตัวเองด้วย
“อหังการทางปัญญา” ซึ่งจะเกิดขึ้นเมื่อคุณเริ่มคิดว่าความรู้ที่คุณมีนั้นอยู่เหนือกว่าความรู้ของคนอื่นๆ
หรือศาสตร์แขนงอื่นๆ ซึ่งนี่คืออวิชชาที่คุณจำต้องก้าวข้ามไปให้ได้
สุดท้าย ความสำเร็จจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อคุณลงมือทำ “เช่นเดียวกับผู้ปราดเปรื่องจำนวนมากซึ่งเชื่อว่า ความคิดสามารถเคลื่อนย้ายภูเขาได้ แต่เอาเข้าจริง กลับเป็นรถแทรกเตอร์ต่างหากที่ถากถางเคลื่อนภูผา”
3. รู้สิ่งที่ (ตนเอง) ให้คุณค่า
“อยากเห็นคนแบบไหนเมื่อส่องกระจกในตอนเช้า?”
นี่คือคำถามที่
ดรักเกอร์ ชวนให้พวกเราถามตัวเอง ลองขบคิดดูซิว่าคนที่เราเห็นในกระจกนั้น
ใช่คนที่เราอยากจะเป็นหรือไม่? บททดสอบนี้มีชื่อเรียกว่า “Mirror
Test” แต่แม้ว่าจะเป็นบททดสอบที่ทำได้ง่ายๆ
แต่ก็มีความสำคัญอย่างยิ่งยวดเพราะ ดรักเกอร์
เชื่อว่าคนเราควรทำงานในสิ่งที่ตัวเองให้คุณค่า
หรือในแนวทางที่สะท้อนคุณค่าที่เราเชื่อ
ความขัดแย้งระหว่างคุณค่าที่เรายึดถือกับคุณค่าที่องค์กรยึดถือจะทำให้คุณอึดอัดและไม่สามารถสร้างผลงานได้
เช่น ถ้าหากคุณเชื่อในเรื่องของการทำงานเป็นทีม
แต่ระบบการให้ผลตอบแทนของบริษัทเป็นแบบใครดีใครได้ เน้นตอบแทนเป็นรายบุคคลมากกว่า
ความขัดกันระหว่างคุณค่าของคุณกับบริษัทจะส่งผลกระทบต่อการสร้างผลงานของคุณ
หรือแม้แต่การให้ค่าของความสำเร็จระยะสั้น
และระยะยาวก็อาจเป็นสาเหตุของความอึดอัดในการทำงานของคนที่ทำงานร่วมกันได้
คุณค่า และระบบคุณค่า (Set of Values) ของตนเอง และองค์กรจึงเป็นเรื่องสำคัญที่เราจะต้องเข้าใจอย่างชัดเจน เพราะเมื่อถึงเวลาที่ต้องตัดสินใจ “คุณค่า” อาจเป็นปัจจัยที่บอกให้คุณอยู่ต่อ หรือลาจาก (ธุรกิจครอบครัว) ได้
“รู้จักตนเอง” ใน 3 มิติ : เปลี่ยนคนธรรมดาที่ทำงานหนัก ให้กลายเป็นคนทำงานที่โดดเด่น
ที่มา : Family Business Asia / ปรับปรุงจากแนวคิดของ Peter F. Drucker
เมื่อ “รู้จักตนเอง” ดีแล้ว เราจึงสามารถบริหารจัดการตนเองได้ดี
เมื่อบริหารจัดการตนเองได้ดีมีประสิทธิภาพแล้ว การสร้างผลงานที่โดดเด่นจึงไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป
Reference:
ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา “Managing Oneself: ปัญญางาน จัดการตน” โดย Peter F. Drucker โดยสำนักพิมพ์ Openbook
[1] แปลโดย ภิญโญ
ไตรสุริยธรรมาในชื่อ “ปัญญางาน จัดการตน” สำนักพิมพ์ Openbooks