การตัดสินใจที่ดี ต้องแฟร์และแคร์

ความแฟร์นั้นยังมีความสำคัญ แต่ควรจะอยู่ในรูปของ “กระบวนการที่แฟร์” มากกว่าผลลัพธ์ที่แฟร์ พูดง่ายๆ ก็คือ กระบวนการตัดสินใจที่แฟร์ น่าจะเป็นสิ่งที่สมาชิกกำหนดให้เป็นเป้าหมายหลัก เพราะเมื่อกระบวนการตัดสินใจถูกยอมรับโดยสมาชิกครอบครัวแล้วว่า “แฟร์” ผลลัพธ์ที่ออกมาย่อมเป็นที่ยอมรับว่า “แฟร์” ด้วย แม้ว่าอาจจะไม่ได้ถูกใจทุกคนก็ตาม
ไม่มีการตัดสินใจใดที่จะถูกใจสมาชิกทุกคนในครอบครัว
การตั้งเป้าไปที่ “ผลลัพธ์” อันน่าพึงพอใจของทุกคน
จึงเป็นอุดมคติที่ยากจะเกิดขึ้นจริงแต่การตัดสินใจไปโดยไม่ “แคร์”
ความรู้สึกของคนในครอบครัวเลยก็อาจจะไม่ใช่ทางออกที่ดีที่สุด
คำถามคือ...แล้วครอบครัวควรจะตัดสินใจกันอย่างไรจึงจะดีที่สุด?
ก่อนอื่นหลายคนคงสงสัยว่าทำไมสมาชิกครอบครัวจึงต้องตัดสินใจร่วมกัน?
สาเหตุสำคัญอยู่ที่คำว่า Interdependency หรือ
“การต้องพึ่งพาซึ่งกันและกัน” มากน้อยแตกต่างกันในแต่ละครอบครัว
ยกตัวอย่างเช่น พี่น้องอยู่ในบ้านที่เป็นสมบัติร่วมกัน
การจะขายบ้านต้องเกิดจากความยินยอมของพี่น้องทุกคน
หรือสมาชิกถือหุ้นและได้รับเงินปันผลจากธุรกิจครอบครัว
ทำให้ผลประกอบการของกิจการครอบครัวส่งผลต่อรายได้ของสมาชิก
หรือลูกหลานทำงานรับเงินเดือนของธุรกิจครอบครัว เป็นต้น
“การต้องพึ่งพาซึ่งกันและกัน” นี้สะท้อนอยู่ในรูปของความมั่งคั่งร่วมกัน (Shared Wealth) และธุรกิจร่วมกัน (Shared Business) ความเชื่อมโยงดังกล่าวนำไปสู่การที่สมาชิกครอบครัวจำเป็นจะต้องตัดสินใจร่วมกันในเรื่องที่มีผลประโยชน์ต่อกัน
ตัดสินใจร่วมกันอย่างไรถึงจะดีที่สุด?
เมื่อต้องตัดสินใจร่วมกัน
ทุกคนมุ่งหวังในผลลัพธ์ที่ “แฟร์” (Fair) แต่เมื่อความแฟร์ของแต่ละคนไม่เท่ากัน เรื่องจึงมักไม่จบลงง่ายๆ ความแฟร์ในผลลัพธ์นั้น
จึงไม่ควรถูกตั้งให้เป็นเป้าหมายตั้งแต่แรก เพราะมีโอกาสนำไปสู่ความขัดแย้งได้ในอนาคต
แล้วเราจะทำยังไงกันดี?
หรือความแฟร์ไม่มีความหมาย?
ความแฟร์นั้นยังมีความสำคัญ แต่ควรจะอยู่ในรูปของ “กระบวนการที่แฟร์”
มากกว่าผลลัพธ์ที่แฟร์ พูดง่ายๆ ก็คือ กระบวนการตัดสินใจที่แฟร์น่าจะเป็นสิ่งที่สมาชิกกำหนดให้เป็นเป้าหมายหลัก
เพราะเมื่อกระบวนการตัดสินใจถูกยอมรับโดยสมาชิกครอบครัวแล้วว่า “แฟร์” ผลลัพธ์ที่ออกมาย่อมเป็นที่ยอมรับว่า “แฟร์” ด้วย แม้ว่าอาจจะไม่ได้ถูกใจทุกคนก็ตาม
ยกตัวอย่างคุณแม่ที่ต้องแบ่งเค้กให้ลูก 2 คนอย่างแฟร์ที่สุดเท่าที่แม่คนหนึ่งจะทำได้ แต่แบ่งยังไงก็คงยากที่จะเท่าเทียมกันได้ในทุกมิติได้ (เนื้อเค้ก หน้าครีม หรือเชอร์รี่ลูกนั้น) แต่คุณแม่เลือกที่จะใช้ “กระบวนการที่แฟร์” ด้วยการให้ลูกคนหนึ่งแบ่ง และอีกคนเลือกนี่เป็นตัวอย่างหนึ่งของความแฟร์ในกระบวนการตัดสินใจ แล้วกระบวนการตัดสินใจที่แฟร์ในธุรกิจครอบครัวนั้นหน้าตาเป็นยังไง?
กระบวนการตัดสินใจที่แฟร์เป็นอย่างไร?
มีแนวคิดหลายอย่างที่ครอบครัวสามารถนำมาใช้เป็นแนวทางในการออกแบบ “กระบวนการตัดสินใจที่แฟร์” ได้ ผมขอยกคำแนะนำของ Barbara
Hauser ที่ปรึกษาธุรกิจครอบครัวท่านหนึ่งที่เสนอหลักการทั่วไป 3
ประการของการสร้างกระบวนการตัดสินใจที่ “แฟร์” ให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกคนในธุรกิจครอบครัว ดังนี้
กระบวนการตัดสินใจที่แฟร์ จะต้องเป็นกระบวนการที่
“โปร่งใส” (Transparent)
กระบวนการตัดสินใจที่แฟร์ จะต้องเป็นกระบวนการที่
“เปิดให้มีส่วนร่วม” (Participative)
และ
กระบวนการตัดสินใจที่แฟร์ จะต้องเป็นกระบวนการที่
“ร่วมกันรับผิดชอบต่อการตัดสินใจนั้นๆ” (Accountable)
หลักการข้อแรกของการตัดสินใจที่แฟร์คือการตัดสินใจนั้นๆ
จะต้องมาจากกระบวนการที่ “โปร่งใส” (Transparent)
เช่น เริ่มต้นจากการแชร์ข้อมูลที่จำเป็นสำหรับการตัดสินใจระหว่างกัน
การมีข้อมูลไม่เท่ากัน หรือมีข้อมูลคนละชุดกัน จะเป็นอุปสรรคอย่างมากต่อการตัดสินใจ
เป็นต้น หลักข้อที่ 2 คือ การ “เปิดให้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจ”
ซึ่งจะนำไปสู่ความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของการตัดสินใจนั้นๆ และรู้สึกว่าเสียงของพวกเขาถูกได้ยิน
และหลักข้อสุดท้ายคือ เมื่อตัดสินใจร่วมกันแล้ว
กระบวนการจะนำไปสู่ความรู้สึกรับผิดชอบร่วมกัน ไม่โทษกันภายหลังว่าเป็นการตัดสินใจของใคร
แต่เป็นการตัดสินใจของ “พวกเราร่วมกัน” ถ้าผลลัพธ์ดีก็รับชอบร่วมกัน ถ้าผลลัพธ์แย่ก็รับผิดร่วมกัน
หลักการทั้ง 3 ประการข้างต้น ถือเป็นรากฐานที่สำคัญของกระบวนการตัดสินใจที่ “แฟร์” และจะช่วยสร้างสิ่งที่สำคัญมากต่อความยั่งยืนของธุรกิจครอบครัว นั่นก็คือ Trust หรือ “ความเชื่อใจซึ่งกันและกัน”
รูปธรรมที่ดีและง่ายที่สุดของกระบวนการตัดสินใจ คือ
“การประชุมครอบครัว”
“เจอกันบ่อยๆ และคุยกันในเรื่องที่ควรต้องคุย” คือคำแนะนำพื้นฐานของการแก้ปัญหามากมายในธุรกิจครอบครัว
“การประชุมครอบครัว” ไม่จำเป็นต้องมีพิธีรีตองมากมาย
ครอบครัวหนึ่งที่ผมเคยสัมภาษณ์ คุณพ่อกำหนดเป็นกฎว่า ลูกทุกคนต้องมาทานข้าวต้มกับพ่อแม่ทุกเช้า
ซึ่งระหว่างการทานข้าวร่วมกัน
ก็จะคุยกันสัพเพเหระ ทั้งเรื่องในบ้าน รวมถึงเรื่องธุรกิจ การจัดการทรัพย์สิน ฯลฯ
แล้วถ้ายังคุยกันไม่เสร็จก็จะไปนั่งคุยต่อที่ห้องรับแขก เป็นอย่างนี้ทุกวัน จากตัวอย่างข้างต้น
เราสามารถถอดบทเรียนในเรื่องของการประชุมครอบครัวได้อย่างน้อย 3 ข้อคือ การประชุมครอบครัวจะต้อง
มีเป็นประจำอย่างต่อเนื่อง –
ความต่อเนื่องคือหัวใจของความสำเร็จ
ปรับให้เหมาะกับครอบครัว – ไม่มีรูปแบบที่ตายตัว
ไม่จำกัดว่าจะต้องคุยที่บ้าน ที่ทำงาน ตอนเช้า หรือ ตอนเย็น เป็นต้น
พูดคุยกันทั้งเรื่องธุรกิจครอบครัวและทุกเรื่องที่เราแคร์กัน
– การจัดสรรเวลาของการประชุมในเรื่องธุรกิจ
และครอบครัวถือเป็นศิลปะที่ไม่มีสูตรตายตัว
เราจะเห็นว่า
“การประชุมครอบครัว” ไม่ได้เอาไว้คุยกันเรื่องธุรกิจเพียงอย่างเดียว
แต่ใช้คุยกันได้ทุกเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องที่เราเป็นห่วงซึ่งกันและกัน หรือพูดง่ายๆ
ว่าเรื่องที่เรา “แคร์” (Care) กันและกัน
ดังที่ Mary Duke ผู้เชี่ยวชาญด้านการส่งมอบธุรกิจจากรุ่นสู่รุ่นและที่ปรึกษาธุรกิจครอบครัวได้ให้คำนิยามของการประชุมครอบครัวไว้ว่า “การประชุมครอบครัวคือ การที่สมาชิกจากเจเนอเรชั่นต่างๆ มาพบปะพูดคุยกันในเรื่องที่ “จับต้องไม่ได้” (Intangible) ของความมั่งคั่ง เช่น ความคาดหวัง ความกังวล เป้าหมายร่วมกัน รวมถึงเพื่อพัฒนาความรู้ และพัฒนาตนเองในด้านต่างๆ...นอกจากนี้ มันยังเป็นที่ๆ สมาชิกมาตกผลึกร่วมกันถึงปัญหาในอดีต เพื่อสร้างอนาคตใหม่ร่วมกัน”
ประชุมครอบครัวด้วยสูตร 3x3 : ไม่ใช่แค่ “แฟร์” แต่ต้อง “แคร์” ด้วย
ดังนั้น
หากต้องการสร้างระบบการตัดสินใจร่วมกันที่ดี ครอบครัวจะต้องผสานระหว่างกระบวนการตัดสินใจที่
“แฟร์” และความเอาใส่ใจซึ่งกันและกันหรือ
“แคร์” เข้าด้วยกัน ครอบครัวสามารถเริ่มต้นได้ง่ายๆ
ด้วยสูตร 3x3 ของ “การประชุมครอบครัว”
อันประกอบไปด้วย 3 แคร์ และ 3 แฟร์
3 แคร์ ได้แก่ 1.จัดการประชุมครอบครัวขึ้นเป็นประจำอย่างต่อเนื่อง
เพื่อเปิดประตูบานแรกของการสื่อสารระหว่างกันของสมาชิก 2.จัดการประชุมในรูปแบบที่เหมาะสมกับครอบครัว
โดยไม่กำหนดกะเกณฑ์ให้ตึงหรือหย่อนจนเกินไปและ 3.สร้างการประชุมที่สมาชิกจะสามารถพูดคุยกันได้ทุกเรื่อง
และเมื่อถึงคราวที่ต้องตัดสินใจในเรื่องที่เกี่ยวกับเงินๆ ทองๆ ผลประโยชน์หรือเรื่องที่เกี่ยวข้องกับค่านิยม
ความเชื่อส่วนบุคคล ซึ่งเป็นเรื่องยากที่จะหาข้อสรุปได้ครอบครัวก็จะยึดหลักการ
3 แฟร์คือ การประชุมครอบครัวจะต้อง 1.มีความโปร่งใส 2.ให้โอกาสสมาชิกมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ และ 3.สมาชิกรับผิดชอบร่วมกันต่อการตัดสินใจนั้นๆ
แม้ว่าการประชุมครอบครัวจะใช้เวลา และพลังงานเป็นอย่างมากแต่ก็ถือเป็นหนึ่งในการลงทุนที่คุ้มค่าที่สุดเท่าที่ครอบครัวจะทำได้ อย่าปล่อยให้เหตุผลที่ว่า “ไม่มีเวลาคุย” หรือ “ไม่รู้จะคุยกันยังไง”ลดทอนโอกาสที่ครอบครัวจะสร้างกระบวนการตัดสินใจร่วมกันที่ดีเพื่อความสุขของครอบครัว และความยั่งยืนของธุรกิจ