วิกฤติสภาพคล่องเอเวอร์แกรนด์ กองทุนไทยกระทบจำกัด

ไชน่า เอเวอร์แกรนด์ กรุ๊ป
บริษัทอสังหาริมทรัพย์ใหญ่อันดับ 2 ของจีนเผชิญปัญหาสภาพคล่อง
และอาจไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนด
โดยมีหนี้ที่เป็นตราสารหนี้เชิงพาณิชย์มูลค่ารวม 2.057 แสนล้านหยวน (3.2
หมื่นล้านดอลลาร์) หรือราว 1 ล้านล้านบาท ณ สิ้นปี 2563
เอเวอร์แกรนด์มีหนี้สินมากกว่า 3 แสนล้านดอลลาร์ หรือราว 10 ล้านล้านบาท เทียบเท่ากับ 2% ของตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของจีน หลังจากที่บริษัทได้ทำการกู้เงินมาเป็นเวลาหลายปีเพื่อรองรับการขยายตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีน ขณะเดียวกัน เอเวอร์แกรนด์ยังมีกำหนดชำระดอกเบี้ยหุ้นกู้ทุกเดือนในช่วงที่เหลือของปีนี้ ซึ่งได้แก่ ตุลาคม, พฤศจิกายน และ ธันวาคม
กองทุนไทยลงทุนในเอเวอร์แกรนด์ สัดส่วนน้อย
สำหรับกองทุนในไทยที่ลงทุนในหุ้นและหุ้นกู้ของเอเวอร์แกรนด์
ซึ่งเป็นการลงทุนผ่านกองทุนหลักในต่างประเทศ ได้ทยอยแจ้งข้อมูลแก่ลูกค้า
ซึ่งการเงินธนาคารได้รวบรวมข้อมูลพบว่ามีประมาณ 24 กองทุน
และมีสัดส่วนการลงทุนที่น้อยมาก โดยภาพรวมไม่ถึง 1% ของมูลค่าทรัพย์สิน (NAV) กองทุน
ดังนั้น จึงประเมินว่าได้รับผลกระทบจำกัด
อีกทั้งปัญหาสภาพคล่องที่รุนแรงขึ้นเกิดจากการควบคุมหนี้ที่เข้มงวดขึ้นของจีน ไม่ได้เกิดจากภาพอุตสาหกรรมที่ไม่ดีทั้งระบบ ผลกระทบต่อภาพรวมจึงมีจำกัด
ตลาดหุ้น : ยังคงลงทุนได้
เพราะมองว่าไม่ได้กระทบในวงกว้าง แต่ตลาดหุ้นที่เพิ่งบอบช้ำจาก Regulatory Risk (ความเสี่ยงจากมาตรการ)
เมื่อเผชิญกับข่าวนี้อาจถูกกดดันไปสักระยะ และไม่ได้ฟื้นตัวเร็วในระยะเวลาอันใกล้
แต่มี Upside ที่มากในระยะเวลากลางถึงยาว
จากการเติบโตของ New
China ที่ยังดีอยู่ ดังนั้น
สามารถหาจังหวะเข้าซื้อเมื่อตลาดปรับตัวลงได้
ตราสารหนี้ High Yield ของเอเชีย : การลงทุนในตราสารหนี้ HY ที่ให้ผลตอบแทนที่มากที่สุด
คือในช่วงที่ Spread กว้างจากตลาดที่
Panic รุนแรง
ณ ปัจจุบัน China
Property HY มี Credit Spread ถึง 16% จึงเป็นโอกาสที่ดีสำหรับคนที่รับความเสี่ยงได้สูง
กองทุนภายใต้ TMBAM Eastspring ลงทุนน้อยกว่า 4 ล้านบาท
บลจ.ทีเอ็มบี อีสท์สปริง (TMBAM Eastspring) เปิดเผยว่า กองทุนเปิด
TMB-T-ES-APlus มีขนาดกองทุนประมาณ
1,825 ล้านบาท มีการลงทุนในเอเวอร์แกรนด์ประมาณ 0.19% (ในสัดส่วนกองทุนหลัก ณ
วันที่ 17 ก.ย.2021) ซึ่งคิดเป็นเงินประมาณ 3.3 ล้านบาท และกองทุนเปิด TMB Asian Bond มีขนาดกองทุนประมาณ
35.5 ล้านบาท มีการลงทุนในเอเวอร์แกรนด์ ประมาณ 0.84% (ในสัดส่วนกองทุนหลัก ณ 19
ส.ค.2021) ซึ่งคิดเป็นเงินประมาณ 3 แสนบาท จึงทำให้ทั้ง 2 กองทุน มีสัดส่วนการลงทุนในตราสารหนี้รวมกันในเอเวอร์แกรนด์
น้อยกว่า 4 ล้านบาท (เนื่องจากกองทุนหลักมีการถือครองเงินสดบางส่วน)
ดังนั้น ผลกระทบของกองทุนนั้นค่อนข้างจำกัด
เนื่องจากทั้ง 2 กองทุนได้ประโยชน์จากการกระจายการลงทุนในตราสารมากกว่า 400
ตราสารสำหรับ TMB Asian
Bond และ TMB-T-ES-APlus มากกว่า 60 ตราสาร
Blackrock ให้ความมั่นใจ
พอร์ตกองทุนกระจายความเสี่ยงที่ดี
บลจ.กรุงไทย เปิดเผยมุมมองจาก Blackrock ผู้จัดการกองทุน
BGF China Bond Fund ซึ่งเป็นกองทุนหลักของ
KT-CHINABOND โดย
BlackRock มองว่า
แรงเทขายที่เกิดขึ้นนั้น จะเป็นแรงเทขายอย่างรุนแรงในระยะเวลาสั้นๆ เท่านั้น
และมองว่ายังมีบริษัทอสังหาริมทรัพย์เกรด B อีกหลายบริษัทที่มีสถานะการเงินที่ดี
และไม่มีปัญหาทางสภาพคล่องแต่อย่างใด
ทั้งนี้ ทาง BlackRock จะจับตาดูสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
และปัจจุบันพอร์ตการลงทุนของ BlackRock
มีการกระจายความเสี่ยงเป็นอย่างดี
โดยอาจพิจารณาปรับสัดส่วนการลงทุนที่มีอยู่อย่างน้อยนิดในตราสารหนี้ของเอเวอร์แกรนด์เพิ่มเติม
หากมีมุมมองที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม
บลจ.ฟิลลิป เชื่อว่า
เหตุการณ์นี้ไม่ได้ส่งผลกระทบกับตลาดการเงินของจีนโดยรวม ทั้งนี้ กองทุน PWIN, PWINRMF และ
PWINRMF มีการลงทุนในเอเวอร์แกรนด์สัดส่วนที่น้อย
หากเหตุการณ์เกี่ยวกับบริษัทมีแนวโน้มแย่ลง
และกองทุนต่างประเทศไม่ได้ทำการลดสัดส่วนเพิ่มเติม กองทุนยังคงได้รับผลกระทบจำกัด
การที่ราคากองทุนปรับตัวลงช่วงนี้
ไม่ได้มีสาเหตุหลักจากสัดส่วนหุ้นของเอเวอร์แกรนด์ แต่เป็น Sentiment ของตลาดในสถานการณ์ที่มีข่าวเชิงลบ
บลจ. มองว่าการกระจายการลงทุน และการเน้นลงทุนในธีมที่ได้ประโยชน์ระยะยาว
ยังสามารถทำให้กองทุนไปต่อได้
บลจ.เอ็มเอฟซี
เปิดเผยมุมมองผู้จัดการกองทุนหลัก BGF
China Bond Fund แม้จะมีข่าวเชิงลบกรณีของเอเวอร์แกรนด์ออกมาในช่วงต้นเดือนกันยายน
แต่ผลการดำเนินงานของกองทุนตั้งแต่ต้นเดือนยังค่อนข้างทรงตัว
จากการที่กองทุนได้ลดสัดส่วนการลงทุนในหุ้นกู้ภาคอสังหาริมทรัพย์
ฝั่งตลาดนอกประเทศจีน (Offshore
High Yield Property) ในช่วงครึ่งแรกของปีจากระดับ 30% เป็น 20%
ช่วยลดผลกระทบจากการขาดทุนในตลาดนอกประเทศจีน (Offshore) ได้บางส่วน นอกจากนี้
กองทุนมีสถานะการลงทุนในเอเวอร์แกรนด์ไม่มาก
จึงได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์นี้ค่อนข้างจำกัด
BGF มองหุ้นกู้อสังหาริมทรัพย์ที่มีอันดับความน่าเชื่อถือระดับ
B ในบางบริษัทยังมีสภาพคล่องที่ดีอยู่
และมีกระแสเงินสดเพียงพอที่จะชำระคืนหนี้ แต่อย่างไรก็ตาม BGF ยังคงระมัดระวังในการลงทุนหุ้นกู้เหล่านี้อย่างใกล้ชิด
ประเด็นปัญหาหนี้ของเอเวอร์แกรนด์
เป็นความเสี่ยงเฉพาะตัวของบริษัทไม่ใช่ ความเสี่ยงที่มีผลกระทบต่อตลาดทั้งระบบ (Systematic Risk) ประกอบกับราคาหุ้นกู้ของเอเวอร์แกรนด์
ที่ปรับตัวลงมาค่อนข้างมาก
ได้สะท้อนความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นจากโอกาสในการผิดนัดชำระหนี้ไปในระดับหนึ่งแล้ว
รวมถึงการที่กองทุนหลักมีสถานะการลงทุนในเอเวอร์แกรนด์ เพียงแค่ 0.14% (ณ วันที่ 9
ก.ย.2021) จึงมองผลกระทบมีค่อนข้างจำกัด
บลจ.กสิกรไทย เปิดเผยว่า
กองทุนรวมภายใต้การบริหารของบริษัทที่ลงทุนผ่าน Master Fund มี 4 กองทุน แต่เป็นสัดส่วนที่น้อยมาก
สำหรับมุมมองของผู้จัดการกองทุนในระยะสั้นตลาดยังคงได้รับแรงกดดัน
โดยเฉพาะอย่างยิ่งหุ้นในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์
จากการที่สภาพคล่องมีความตึงตัวและความกังวลของนักลงทุน ทั้งนี้ ภาคอสังหาฯคิดเป็น
3.8% ของดัชนี MSCI China
ขณะที่เอเวอร์แกรนด์แม้จะเป็นบริษัทขนาดใหญ่แต่ก็มีส่วนแบ่งการตลาดเพียง
4% เท่านั้น เพราะตลาดอสังหาฯในจีนค่อนข้างกระจายตัวอย่างมาก
คำแนะนำการลงทุน
ยังคงมีมุมมองเป็นบวกต่อหุ้นจีนอยู่ เนื่องจากมองว่าปัญหาในระยะสั้นที่น่าจะสามารถควบคุมผลกระทบได้
และความพยายามในการลดการกู้ลงจะเป็นผลดีกับเศรษฐกิจในระยะยาว
ข้อสังเกตของมอร์นิ่งสตาร์
หุ้นกู้ในกลุ่มเอเวอร์แกรนด์
มอร์นิ่งสตาร์เปิดเผยว่า
ตราสารหนี้ภายใต้กลุ่มเอเวอร์แกรนด์ ยังมีการออกตราสารหนี้เพื่อกู้ยืมเงินจากนักลงทุนผ่านบริษัทในเครือภายในกรุ๊ป
ดังนั้น
หากจะดูว่าแต่ละกองทุนมีการลงทุนในตราสารหนี้ของเอเวอร์แกรนด์เท่าไรคงต้องนับรวมการลงทุนในตราสารหนี้ของบริษัทย่อยเหล่านี้เข้าไปด้วย
ตัวอย่างเช่นหุ้นกู้ของบริษัทอสังหาริมทรัพย์ Hengda ซึ่งเป็นบริษัทที่เอเวอร์แกรนด์
ถือหุ้นอยู่ในสัดส่วน 60% โดย Hengda
ได้มีการออกหุ้นกู้ สกุลเงินหยวน อายุ 5 ปี
มูลค่า 4 พันล้านหยวน และครบกำหนดชำระคืนในเดือนกันยายนปี 2025
หรือหุ้นกู้ของบริษัท Scenery Journey ซึ่งเป็นเจ้าของโดย
Hengda ที่ถือผ่านบริษัทโฮลดิ้ง
Tianji อีกทีหนึ่ง
โดย Scenery Journey ได้ออกหุ้นกู้สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐซึ่งจะครบกำหนดชำระคืนในเดือนตุลาคม
2022 และพฤศจิกายน 2023 ซึ่งที่ผ่านมา ฟิทช์ เรทติ้งส์
ได้ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของเอเวอร์แกรนด์ รวมถึงบริษัทย่อย Hengda และ
Tianji เพื่อสะท้อนความเสี่ยงในการผิดนัดชำระจากปัญหาทางด้านสภาพคล่อง
โดยยอดขายที่ชะลอลงทำให้การจ่ายคืนหนี้ค้างชำระต่อคู่ค้าอย่างเช่นผู้รับเหมาและซัพพลายเออร์ล่าช้าออกไปด้วย
ก่อนหน้านี้ มอร์นิ่งสตาร์ ได้ทำการรวบรวมดูพบว่ากองทุนตราสารหนี้ขนาดใหญ่มีการลงทุนในหุ้นกู้ของเอเวอร์แกรนด์ในสัดส่วนประมาณ 1% ของมูลค่าพอร์ตโดยรวม (Allianz Dynamic Asian High Yield Bond มีสัดส่วนลงทุนมากสุดที่ 2.56%) และหากดูการลงทุนในหุ้นกู้ของ Scenery Journey ด้วยพบว่ากองทุนเหล่านี้มีการลงทุนอยู่ประมาณ 0.32% ถึง 1.16% (ยกเว้น HSBC GIF Asia High Yield Bond ที่ได้ขายหุ้นกู้ของ Scenery Journey ออกไปหมดแล้ว)