กองทุนรวมไทย 9 เดือนโต 5.5% กลุ่มตราสารทุนฮอต เงินไหลเข้า 2 แสนล้าน

อุตสาหกรรมกองทุนรวมไทย จบ 9 เดือน
ด้วยทรัพย์สินรวม 4.2 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.5% จากสิ้นปี 2020
ต่ำกว่าช่วงก่อนการระบาดของโควิด-19 ไม่ถึงแสนล้านบาท คนไทยลงทุนนอกต่อเนื่อง ดัน FIF พุ่ง
1.1 ล้านล้านบาท โต 50% กองทุนหุ้นสุดฮอตเงินไหลเข้าเกือบ 2 แสนล้านบาท SSF และ
SSFX ลุ้นทั้งปีเงินไหลเข้า
1.3 หมื่นล้าน
บริษัท มอร์นิ่งสตาร์รีเสิร์ช (ประเทศไทย)
จำกัด รายงานอุตสาหกรรมกองทุนรวมไทยในรอบ 9 เดือน (เฉพาะกองทุนเปิด
ไม่รวมกองทุนปิด, ETF,
REIT, Infrastructure Fund) มีมูลค่าทรัพย์สินรวม 4.2 ล้านล้านบาท
( ณ 30 ก.ย.2564) ทรงตัวจากไตรมาสที่สองหรือเพิ่มขึ้น 0.1% โดยในไตรมาส 3
มีเงินไหลเข้าสุทธิ 3.7 หมื่นล้านบาท รวม 9 เดือน มีเงินไหลเข้าสุทธิ 1.3
แสนล้านบาท
กองทุนรวมหุ้นขนาดใหญ่ (Equity Large - Cap) มีมูลค่าทรัพย์สินเพิ่มขึ้น
14.9% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว แต่ทรงตัวจากไตรมาสก่อนหน้า
เนื่องจากผลตอบแทนเฉลี่ย 1.7%
จากหุ้นไทยที่เป็นบวกถูกหักล้างด้วยเม็ดเงินที่ไหลออกไปจากกองทุนมูลค่า 7.3
พันล้านบาท รวม 9 เดือนมีเงินไหลออกทั้งสิ้น 3.2 หมื่นล้านบาท
หรือไหลออกมากที่สุดรองจากกองทุนรวมตลาดเงิน (Money Market)
"ในไตรมาส 3 เงินไหลเข้ากองทุนหุ้น 3.8
หมื่นล้านบาท แต่เนื่องจากมีกองทุนหลายกลุ่มผลตอบแทนติดลบ
จึงหักล้างการเพิ่มขึ้นของมูลค่าทรัพย์สิน หรือ NAV ส่งผลให้ทรงตัวจากไตรมาสก่อนหน้าด้วยมูลค่า 1.5
ล้านล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นเพียง 0.1% จากไตรมาสที่สอง" นางสาวชญานี จึงมานนท์
นักวิเคราะห์อาวุโส บริษัท มอร์นิ่งสตาร์รีเสิร์ช (ประเทศไทย) กล่าว
อย่างไรก็ดี นางสาวชญานีกล่าวว่า ในรอบ 9
เดือนที่ผ่านมา เม็ดเงินไหลยังไหลเข้ากลุ่มกองทุนหุ้นถึงเกือบ 2 แสนล้านบาท
สำหรับกองทุนรายกลุ่ม Morningstar
Category มีการเปลี่ยนแปลงไปในไตรมาส 3
โดยกองทุนหุ้นขนาดใหญ่ (Equity
Large-Cap) กลับขึ้นมาเป็นกลุ่มกองทุนขนาดใหญ่ที่สุดในอุตสาหกรรม
ในขณะที่กองทุนหุ้นจีน (China
Equity) มีมูลค่าลดลง ทำให้ตกไปอยู่ที่ลำดับที่ 8
จากที่ 6 ในไตรมาสก่อนหน้า
LTF เงินไหลออก
1.4 หมื่นล้านบาท
สำหรับกองทุนหุ้นไทย (ไม่รวม LTF RMF SSF) มีมูลค่าทรัพย์สินรวม
2.3 แสนล้านบาท ลดลง 0.7% จากไตรมาสที่ 2 แต่ยังสูงกว่าสิ้นปี 2020 อยู่ 1.3%
ซึ่งเป็นผลจากผลตอบแทนหุ้นไทยที่เพิ่มขึ้นในช่วง 9 เดือนแรก
กองทุนเพื่อการออมมีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 2.8 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.1%
จากไตรมาสก่อนหน้า และมีเงินไหลเข้าสุทธิ 1.7 พันล้านบาท รวมสะสม 9 เดือนที่ 3.9
พันล้านบาท
กองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิที่
3.6 แสนล้านบาท ทรงตัวจากไตรมาสก่อนหน้าและสูงกว่าสิ้นปี 2020 สัดส่วน 4.6%
โดยในไตรมาสล่าสุดมีเงินไหลออกสุทธิ 3.6 พันล้านบาท รวม 9 เดือนมีเงินไหลออกสุทธิจากกองทุน LTF แล้วทั้งสิ้น
1.4 หมื่นล้านบาท
ด้านกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิรวม
3.6 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า 1% มีเงินไหลเข้าสุทธิ 3.2 พันล้านบาท
รวมเงินไหลเข้าสุทธิสะสมกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพในปีนี้ 5 พันล้านบาท
ขณะที่ในไตรมาส 3 กองทุนหุ้นไทย (ไม่รวม LTF RMF SSF) มีมูลค่าทรัพย์สินรวม
2.3 แสนล้านบาท ลดลง 0.7% จากไตรมาสที่ 2 แต่ยังสูงกว่าสิ้นปี 2020 อยู่ 1.3%
ซึ่งเป็นผลจากผลตอบแทนหุ้นไทยที่เพิ่มขึ้นในช่วง 9 เดือนแรก โดย SET TR อยู่ที่
13.8%
“นับตั้งแต่การยกเลิกกองทุน LTF ซึ่งโดยปกติจะเป็นแรงซื้อหุ้นไทยในช่วงที่ตลาดปรับตัวลง
ประกอบกับความนิยมการลงทุนต่างประเทศที่สูงขึ้น ทำให้กองทุนหุ้นไทย (ไม่รวม LTF RMF SSF) ยังคงมีแรงขายออกอย่างต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่
7 โดย 9 เดือนของปีนี้เป็นเงินไหลออกสุทธิ 1.8 หมื่นล้านบาท
แต่ด้วยผลตอบแทนที่เป็นบวกทำให้มูลค่าทรัพย์สินทรงตัวในปีนี้
ฉะนั้นหากไม่รวมมูลค่าทรัพย์สินที่เพิ่มขึ้นจากผลตอบแทนจะพบว่าขนาดของกองทุนกลุ่มนี้มียังคงมีการหดตัวลง”
นางสาวชญานี กล่าว
คนไทยลงทุนนอกต่อเนื่อง
ดัน FIF พุ่ง 1.1 ล้านล้านบาท โต 50%
นางสาวชญานีกล่าวว่า กองทุนรวมต่างประเทศ หรือ FIF (ไม่รวม
Term Fund) มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ
1.1 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.9% จากไตรมาสที่ 2 หรือ 50.3%
จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยไตรมาส 3 ปีนี้ มีเงินไหลเข้าสุทธิ 5.6
หมื่นล้านบาท เป็นเงินจากกองทุนหุ้นและกองทุนผสมเป็นส่วนใหญ่ที่ 4.7
หมื่นล้านบาทและ 1.2 หมื่นล้านบาท ตามลำดับ รวม 9 เดือน เป็นเงินไหลเข้า 2.5
แสนล้านบาท
จากการที่กองทุนต่างประเทศมีมูลค่ากองทุนหุ้นจีนเป็นสัดส่วนสูง
ปัจจัยเชิงลบที่เกิดขึ้นกับหุ้นจีนไม่ว่าจะเป็นประเด็นความปลอดภัยของข้อมูลที่เกิดขึ้นกับ
Didi การออกกฎให้สถาบันการศึกษาเป็นหน่วยงานที่ไม่แสวงหากำไร
ที่ส่งผลโดยตรงกับสถาบันกวดวิชาหลายแห่ง การจำกัดเวลาเล่นเกมส์กับเยาวชนจีน
มาจนถึงการผิดนัดชำระหนี้ของบริษัท China Evergrande ทำให้บรรยากาศการลงทุนหุ้นจีนได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก
“ในไตรมาส 3 กองทุนหุ้นจีนมีผลตอบแทนต่ำที่สุด
หรือเฉลี่ย -13.9% อย่างไรก็ดี นักลงทุนอาจมองเป็นโอกาสการลงทุน
ทำให้ในไตรมาสที่ผ่านมามีเงินไหลเข้าสุทธิ 7.5 พันล้านบาท มูลค่าทรัพย์สินลดลง
10.7% จากไตรมาสก่อน ไปอยู่ที่ 1.7 แสนล้านบาท
หรือลงมาอยู่อันดับที่สองในหมวดกองทุนต่างประเทศ” นักวิเคราะห์มอร์นิ่งสตาร์ กล่าว
กองทุน SSF/SSFX ลุ้นทั้งปีเงินไหลเข้า 1.3 หมื่นล้าน
กองทุนเพื่อการออม ในไตรมาส 3
มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 2.8 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.1% จากไตรมาสก่อนหน้า
มีเงินไหลเข้าสุทธิ 1.7 พันล้านบาท รวมสะสม 9 เดือนที่ 3.9 พันล้านบาท
นางสาวชญานีคาดว่า
หากมีเงินไหลเข้าในไตรมาสสุดท้ายใกล้เคียงกับปีที่แล้วที่ระดับ 9 พันล้านบาท
จะทำให้มีเม็ดเงินไหลเข้าสุทธิรวมทั้งปีที่ราว 1.3 หมื่นล้านบาท
หรือสูงกว่ายอดรวมปีที่แล้วราว 2-3 พันล้านบาท (นับเฉพาะส่วนของกองทุน SSF หรือตั้งแต่เดือนกรกฎาคม
2020)
สำหรับกองทุนหุ้นไทย Equity Large-Cap มีมูลค่าเพิ่มขึ้น
4.7% จากไตรมาสก่อนหน้าไปอยู่ที่ 1.0 หมื่นล้านบาท
และยังคงเป็นกลุ่มที่มีมูลค่าทรัพย์สินสูงสุดในหมวดกองทุนเพื่อการออม
ในรอบไตรมาสล่าสุดมีเม็ดเงินไหลเข้าสุทธิระดับ 300 ล้านบาท
ค่อนข้างใกล้เคียงกับไตรมาสก่อน รวม 9 เดือนเป็นเงินไหลเข้าสุทธิกว่า 700 ล้านบาท
หรือสูงเป็นอันดับ 3 ในรอบ 9 เดือน ทั้งนี้ กองทุนกลุ่มนี้ผลตอบแทนเฉลี่ย 3
เดือนสูงสุดที่ 1.9%
เงินไหลเข้ากองหุ้นจีน
นักลงทุนมองโอกาสลงทุนยาว 10 ปี
นางสาวชญานีกล่าวว่า
แม้กองทุนต่างประเทศส่วนใหญ่จะมีผลตอบแทนเฉลี่ยติดลบ
แต่ยังมีอัตราการเติบโตที่สูงกว่าการลงทุนในประเทศ เช่น กลุ่ม Global Equity มีมูลค่าทรัพย์สินเพิ่มขึ้น
11% ไปอยู่ที่เกือบ 6 พันล้านบาท จากเงินไหลเข้าสุทธิ 549 ล้านบาท
ซึ่งสูงกว่ากลุ่มอื่นในไตรมาสที่ผ่านมา รวม 9 เดือนไหลเข้าสุทธิ 1.4 พันล้านบาท
“กองทุนหุ้นจีนมีเงินไหลเข้า 402 ล้านบาท
เร่งตัวขึ้นจากไตรมาสที่ 2 รวม 9 เดือนมีเงินไหลเข้าสุทธิสูงเป็นอันดับที่ 2
ด้วยมูลค่า 765 ล้านบาท ผลตอบแทนเฉลี่ยติดลบถึง 13.8%
อาจเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้นักลงทุนมองเป็นโอกาสการลงทุนระยะ 10 ปีได้”
บลจ.กสิกรไทย แชมป์เงินไหลเข้า
มอร์นิ่งสตาร์ รายงานว่า บลจ.กสิกรไทย เป็น
บลจ.ที่มีเงินไหลเข้าสุทธิสูงสุดติดต่อกัน 2 ไตรมาส รวมรอบ 9 เดือน เป็นมูลค่า 3.4
หมื่นล้านบาท (ไม่รวมกองทุนตราสารหนี้ประเภท Term Fund) ตามมาด้วย
บลจ.กรุงไทยที่มีเงินไหลเข้าสุทธิทั้ง 3 ไตรมาส รวมมูลค่า 3.2 หมื่นล้านบาท
ที่ถือว่ามีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับมูลค่าทรัพย์สินสุทธิรวม เช่นเดียวกับ
บลจ.เกียรตินาคินภัทร และ บลจ.วรรณ ทำให้มีอัตราการเติบโต (Organic Growth) ที่
12-40%
ด้าน บลจ.ที่มีเงินไหลออกมากที่สุดในรอบ 9
เดือนคือ บลจ.ไทยพาณิชย์ รวม 2.7 หมื่นล้านบาท โดยมาจากช่วงไตรมาสแรกเป็นหลัก
เช่นเดียวกับ บลจ.บัวหลวง ที่มีเงินไหลออกในไตรมาสแรกระดับ 1 หมื่นล้านบาท
จากทั้งหมด 1.6 หมื่นล้านบาท ของช่วง 9 เดือนแรก